คอร์รัปชั่นลดจริง? ต้องดูหลังเลือกตั้ง

เมื่อไม่นานมานี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผยผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย (Corruption Situation Index : CSI) เดือน ธ.ค. 2557 หากการสำรวจทำได้ดีและเป็นจริงก็แสดงว่า สิ่งที่พบนำกำลังใจแก่เราได้บ้าง เพราะโพลพบว่า สถานการณ์ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นปรับตัวดีขึ้นดีที่สุดในรอบ 5 ปี เอกชนจ่ายเงินเพิ่มให้ข้าราชการเพื่อรับงานจากภาครัฐมีจริงแต่ลดลงบ้าง

นี่เป็นครั้งแรกที่ประชาชนและภาคธุรกิจเห็นว่าสถานการณ์มีโอกาสน่าจะคลี่คลายและปรับตัวดีขึ้นได้ในอนาคต
การสำรวจครั้งนี้แม้ว่าจะเป็นสัญญาณที่ดี แต่หากจะคาดหวังอนาคตการทุจริตคอร์รัปชั่นจะดีขึ้น…ต้องดูหลังเลือกตั้งด้วย เมื่อรัฐบาลชุดนี้คืนอำนาจให้ประชาชนแล้ว…หลังจากนั้นจะเป็นภาพความจริงว่าจะลดลงจริงหรือไม่ หรือจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม!!
คอร์รัปชั่นจะลดลงอย่างต่อเนื่องแท้จริง หากนักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศ ไม่หวังเข้ามาโกงกินเหมือนที่ผ่านๆ มา!! …ข้าราชการในหน่วยงานที่เคยฉ้อราษฎร์บังหลวง จะต้องไม่คิดจะทำแบบนั้นอีกต่อไป!! และเอกชนที่เคยรับงานจากหน่วยงานราชการ ซึ่งเคยชินกับการจ่ายใต้โต๊ะ จะต้องเลิกพฤติกรรมดังกล่าว!! พร้อมๆ กับระบบตรวจสอบและปราบปรามคอร์รัปชั่นต้อง เข้มแข็ง…ถ้าเป็นเช่นนี้ คอร์รัปชั่นย่อมมีแนวโน้มดีขึ้น
ตรงกันข้าม หาก “น้ำเสีย” ยังคงอยู่ เช่น หลังเลือกตั้งได้นักการเมืองท้องถิ่นหน้าเดิมๆ ฮั้วกับข้าราชการ ผู้ประกอบการได้เหมือนเดิม และระบบตรวจสอบ จัดการทุจริตคอร์รัปชั่นอ่อนแอ ไม่เอาจริงเอาจังเหมือนเดิม เมื่อนั้นทุกอย่างก็จะลงตัวเช่นเดิม คอร์รัปชั่นย่อมกลับมาเฟื่องฟูได้อีกอย่างแน่นอน
คำถามคือ เราจะทำอย่างไรให้สถานการณ์คอร์รัปชั่นดีขึ้นต่อเนื่องได้??

เพิ่มต้นทุนความเสี่ยงให้ “สูง” คือเพิ่มต้นทุนหรือความเสี่ยงในการคอร์รัปชั่นที่แพงยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ผู้ที่จะทำการทุจริตต้องคิดมากขึ้นว่าจะทำดีหรือไม่ ไปจนถึงรู้สึกว่า “ไม่คุ้ม” ที่จะกระทำการทุจริต แต่ทำอย่างถูกต้องคุ้มค่ากว่า อาทิเพิ่มโทษให้หนัก – ผิดจริง จับจริง ลงโทษจริง เพิ่มโทษให้หนักขึ้นจนมีผลฉุดรั้งทั้งผู้ให้และผู้รับ เช่น ในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่คอร์รัปชั่นต้องรับโทษเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่าโทษปกติจากความผิดทั่วไป ขณะที่บริษัทเอกชนจะถูกปรับอย่างหนักและมีโทษทางอาญา ขึ้นบัญชีดำให้ไม่สามารถรับการจัดสรรผลประโยชน์จากภาครัฐอีกต่อไป
เพิ่มโอกาสถูกจับได้ – ทำให้หน้าต่างมีหู ประตูมีช่อง ธรรมชาติมนุษย์ เมื่อทำดีชอบโอ้อวด เมื่อทำชั่วชอบหลบซ่อน ไม่อยากให้ใครจับได้ว่าทำผิด ดังนั้น หากสร้างความตระหนักรู้ว่า “อนาคตจะจบสิ้น หากถูก จับได้” เช่น สร้างระบบที่โปร่งใส ระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่ละเอียดถี่ถ้วน มีการสุ่มติดตามตรวจสอบโดยไม่บอกล่วงหน้า มีการติดกล้องวงจรปิด กลายเป็นหลักฐานมัดตัว ฯลฯ โอกาสของผู้กระทำผิดที่จะถูกจับได้ง่ายยิ่งขึ้น
มีแต่ “เสือจริง” ไม่ใช่ “เสือกระดาษ” องค์กรที่ทำหน้าที่ปราบปรามคอร์รัปชั่น และองค์กรตรวจสอบต้องไม่เป็นเสือกระดาษ ไม่ขึ้นกับการเปลี่ยนรัฐบาล ไม่ต้องพึ่งพาผู้นำประเทศ แต่เข้มแข็งด้วยตัวองค์กร ผู้นำและบุคลากรภายในองค์กรเอง นั่นหมายความว่าบุคลากรที่จะเข้ามาอยู่ในหน่วยงานนี้ ต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง มีทีมงานปราบคอร์รัปชั่นที่แข็งแกร่งกล้า ไม่กลัวผู้มีอิทธิพล ไม่กลัวการถูกคุกคามข่มขู่ และต้องได้รับการติดเขี้ยวเล็บให้จัดการได้อย่างรวดเร็ว เด็ดขาด มีเครือข่ายที่สนับสนุนมากเพียงพอ และมีระบบประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ เป็นต้นสร้างเครือข่ายต้านคอร์รัปชั่นในองค์กระ ไม่เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ผมเชื่อว่า ทุกองค์กรย่อมต้องมีคนทำงานที่ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ คนที่เกลียดการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ และคนที่มีความกล้าหาญพอที่ จะไม่ “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่” แต่พร้อมยินดีเข้าไปมีส่วนในการสอดส่องดูแล แจ้งข่าว ให้ข้อมูล ตรวจสอบ สืบสวน หากพบเห็นการกระทำที่มิชอบในที่ทำงาน สร้างเครือข่ายอาสาสมัครแทรกซึมลงไป และเชื่อมโยงข้อมูลเป็นเครือข่ายถึงกัน ย่อมช่วยสร้างความเข้มแข็งในการจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นให้ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องได้
คอร์รัปชั่นที่ลดลงในช่วงนี้ เป็นเพราะการปราบปรามอย่างหนักคุมเข้มตรวจสอบอย่างจริงจัง ซึ่งหากทำไม่ต่อเนื่อง ไม่วางระบบรัดกุมอย่างดี ที่สำคัญไม่ได้เปลี่ยน “น้ำเสีย” ให้กลายเป็น “น้ำดี” สักพักหนึ่งเมื่อการตรวจสอบหย่อนยาน ไม่เข้มงวด ย่อมจะกลับมาใหม่ เช่นเดียวกับในช่วงที่เคยประกาศสงครามกับยาเสพติด กวาดล้างอย่างจริงจัง ทำให้จำนวนการค้ายาเสพติด ลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเลิกทำ เพียงแต่รอเวลาเหมาะสม เมื่อรัฐลดความเข้มงวดลง ยาเสพติดจึงกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง
หากเราไม่อยากเห็นคอร์รัปชั่นกลับมาระบาดเหมือนยาเสพติด คงต้องวางแผนอนาคตอย่างรอบคอบจนมั่นใจว่าเชื้อร้ายนี้จะไม่กลับมาแพร่ระบาดกัดกินสังคมไทยได้อย่างแท้จริง

 

ที่มา:?โพสต์ทูเดย์
คอลัมน์ :?คิดเป็นเห็นต่าง

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com,?http:// www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ :?http://www.bloggang.com/data/moonfleet/picture/1416315520.jpg