3631 20121016095226

ข้อเสนอแนะการฟื้นฟูเศรษฐกิจชายแดน

3631 20121016095226กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ภายหลังจากการเข้าควบคุมอำนาจโดยคณะรักษาความสงบสุขแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น คสช. ได้เสนอโรดแมพ (Roadmap)อันมีวัตถุประสงค์เพื่อนำประเทศให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างสงบสุขผ่าน 3 ขั้นตอนที่สำคัญอันได้แก่ การปรองดอง การปฏิรูป และการเลือกตั้งตามลำดับ

ภายหลังจากการแถลงการณ์โรดแมพ คสช. ได้ประกาศนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจเร่งด่วน 4 ประการสำคัญ ได้แก่ ประการแรก โครงการประกันภัยข้าวนาปีสำหรับปีการผลิต 2557 ประการที่สอง โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ประการที่สาม มาตรการการช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและย่อม และประการที่สี่ โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจชายแดน

ทั้งสี่นโยบายดังกล่าวล้วนมีความน่าสนใจสำหรับการศึกษาวิเคราะห์ทั้งในแง่ของความสำคัญและประสิทธิผลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สำหรับบทความชิ้นนี้ ผมให้ความสนใจนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจชายแดน โดยจะทำการวิเคราะห์ในแง่ของความจำเป็นและความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผมเคยเสนอแนวคิดการส่งเสริมการย้ายฐานการลงทุนไปยังบริเวณชายแดน หลังจากที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ดำเนินนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ (บทความเรื่อง ?ข้อเสนอนโยบายอุตสาหกรรมและแรงงาน ภายหลังการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท?) โดยแนวคิดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการขาดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

ผมมองว่าการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนเป็นนโยบายที่จำเป็นสำหรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่อุตสาหกรรมไทยมีแนวโน้มสูญเสียความได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี การลักลอบเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีอัตราค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าไทยทำให้การปรับโครงสร้างการผลิตล่าช้า เพราะทำให้ไม่เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือ ผู้ประกอบการจึงไม่มีแรงกดดันให้ต้องปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่กระบวนการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต สร้างนวัตกรรม หรือพัฒนาฝีมือแรงงาน

การส่งเสริมการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังบริเวณชายแดนจะช่วยแก้ปัญหาการลักลอบเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ปัญหาการค้ามนุษย์ และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเข้ามาของแรงงานต่างด้าว อาทิ ปัญหาด้านสาธารณสุขและโรคระบาดข้ามพรมแดน ปัญหาคนต่างด้าวเข้ามาแย่งใช้บริการสาธารณะ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความแออัดของเขตเมือง เป็นต้น

การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปี พ.ศ. 2558 จะส่งผลทำให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำให้ความต้องการแรงงานในประเทศเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้น และทำให้เกิดการไหลกลับของแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะส่งผลทำให้ประเทศไทยจะมีแนวโน้มขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือมากขึ้น ดังนั้นการย้ายฐานการผลิตไปยังบริเวณชายแดนหรือย้ายออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านจึงเป็นแนวทางที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมที่ต้องการใช้แรงงานต่างด้าวยังสามารถอยู่รอดได้

การส่งเสริมเศรษฐกิจชายแดนมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้าภายในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ เนื่องจากตั้งอยู่ศูนย์กลางของภูมิภาคและมีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศเป็นระยะทางยาว โดยมีช่องทางการค้าตามแนวชายแดนมากกว่า 89 จุด การพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนจะทำให้เกิดความเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในภูมิภาค ประเทศไทยมีโอกาสจะกลายเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายการผลิตภายในภูมิภาค (regional production network) โดยการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น อุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตร โดยการนำเข้าวัตถุดิบราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ (มาเลเซีย กัมพูชา ลาว และ เมียนมาร์) ในปี พ.ศ. 2556 ระบุว่า การค้าชายแดนมีมูลค่ารวมสูงถึง 9.2 แสนล้านบาท โดยการค้ากับประเทศมาเลเซียมีมูลค่าสูงที่สุดถึง 5 แสนล้านบาท รองลงมาคือเมียนมาร์ที่มีมูลค่าการค้า 1.96 แสนล้านบาท ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าการค้าชายแดนกับทั้ง 4 ประเทศจะสูงถึง 1 ล้านล้านบาทในปี พ.ศ. 2559

เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อาเซียนจะรวมตัวเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว เนื่องจากการขจัดภาษีนำเข้าระหว่างกัน การอำนวยความสะดวกทางการค้า ลดขั้นตอนพิธีการศุลกากร การเคลื่อนย้ายสินค้า เงินทุน และแรงงานที่มีทักษะมีความเป็นไปแบบเป็นอิสระมากขึ้น จะส่งผลทำให้การค้าและการลงทุนบริเวณชายแดนมีความคึกคักมากยิ่งขึ้น ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวตามแนวชายแดนจะเติบโตมากยิ่งขึ้น เหตุเพราะการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศอาเซียนเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น

ไทยยังมีโอกาสเป็นศูนย์กลางธุรกิจด้านโลจิสติกส์ทางบกของภูมิภาค เนื่องจากอาเซียนได้จัดทำแผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity) โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นถนน ทางรถไฟ พลังงาน และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งจะทำให้การเดินทางและการขนส่งระหว่างประเทศมีความสะดวกและมีต้นทุนต่ำลง และทำให้เกิดการกระจายความเจริญไปยังชนบทมากขึ้น และสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจชายแดนมากขึ้น

ดังนั้น การที่ สคช. เลือกดำเนินนโยบายเรื่องนี้จึงมีความเหมาะสมในแง่ความจำเป็นและความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ รวมทั้งยังสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคในอนาคต นโยบายนี้จึงเป็นเสมือนนโยบายที่ทำให้คนไทยได้ปรับเปลี่ยน และเตรียมตัวก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ดี การพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมามีการส่งเสริมการลงทุนในบริเวณชายแดนในระดับหนึ่ง เช่น การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอบริเวณชายแดนแม่สอด เป็นต้น แต่โรงงานอุตสาหกรรมที่ย้ายฐานการผลิตไปยังชายแดนยังมีจำกัด ซึ่งอาจเนื่องมาจากมาตรการสนับสนุนยังไม่จูงใจมากพอ และต้นทุนการดำเนินธุรกิจในบริเวณชายแดนยังสูง โดยเฉพาะต้นทุนการขนส่ง

แนวทางสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจชายแดน คือ รัฐบาลต้องมีความมุ่งมั่นและมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการปรับโครงสร้างและยกระดับการผลิตของทั้งประเทศให้มุ่งไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ใช้เทคโนโลยีในระดับสูงขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีนวัตกรรมมากขึ้น โดยการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมหรือกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น การผลิตที่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีชั้นสูง การออกแบบ การวิจัยและพัฒนา เป็นต้น ในขณะเดียวกันต้องมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น

อีกมาตรการหนึ่งในการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดน คือ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดน โดยให้สิทธิพิเศษต่างๆ แก่ผู้ประกอบการที่ย้ายฐานการผลิตไปยังเขตเศรษฐกิจดังกล่าว เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการย้ายฐานการผลิต มาตรการลดหย่อนภาษี หรือแม้แต่การผ่อนปรนการบังคับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นต้น

การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจระดับประเทศให้เข้ากับเศรษฐกิจระดับชายแดนเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่มีความจำเป็นในการส่งเสริมเศรษฐกิจชายแดน เพื่อทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชายแดนและเศรษฐกิจระดับประเทศมีความเชื่อมโยงและพึ่งพากันและกันมากขึ้น มาตรการที่มีความสำคัญและเร่งด่วน คือ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ชายแดนกับส่วนอื่นๆ ของประเทศ เพื่อทำให้การผลิตและขนส่งสินค้าจากชายแดนมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีต้นทุนต่ำลง รวมทั้งการเดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดนสะดวกมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ความเจริญไหลไปถึงชายแดนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันคือการสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยการสร้างความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้า ปัจจัยการผลิต แรงงาน และนักท่องเที่ยวข้ามพรมแดน ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้านเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานของไทย ทั้งนี้เพื่อทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อนบ้านมีความสอดคล้องเป็นเครือข่ายการผลิตเดียวกันกับเศรษฐกิจชายแดนของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายตัวของการค้าการลงทุนบริเวณชายแดนมากขึ้น

กล่าวโดยสรุป การฟื้นฟูเศรษฐกิจชายแดนเป็นนโยบายที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญ ทั้งในเชิงการแก้ปัญหาการขาดความสามารถในการแข่งขัน และในเชิงยุทธศาสตร์การยกระดับของอุตสาหกรรมในประเทศ แต่การดำเนินนโยบายนี้จำเป็นต้องมีความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่มีประสิทธิภาพและมีการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ตลอดจนมีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจริงจัง

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.scbeic.com/stocks/extra/3631_20121016095226.jpg