การศึกษาบนฐานเทคโนโลยี : ฮาร์วาร์ดใช้เทคโนโลยีช่วยจัดการศึกษา

          โลกปัจจุบันเป็นโลกยุคที่เทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าอย่างมาก เป็นที่สนใจ และถูกนำมาใช้ในทุกแวดวง โดยความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีดังกล่าวนี้เป็นผลต่อยอดมาจากการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันเราจึงเห็นมีเทคโนโลยีร่วมสมัยและเทคโนโลยีสมัยใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยที่เทคโนโลยีดังกล่าวเหล่านี้ถูกนำมาใช้เป็นประโยชน์ ทั้งทางการแพทย์ การทหาร การคมนาคม และอื่น ๆ ในที่นี้รวมถึงทางการศึกษาด้วยเช่นเดียวกัน

ผมเคยนำเสนอความคิดเอาไว้นานมากแล้วเกี่ยวกับการศึกษาบนฐานเทคโนโลยี (Technology based Education) หรือการใช้เทคโนโลยีมาสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาและเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน ด้วยตระหนักความสำคัญว่า การศึกษาจำเป็นต้องปรับตัวเกาะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและต้องสามารถนำบริบทการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน เช่น การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสร้างเครือข่ายการเรียนรู้กับสถาบันการศึกษาชั้นนำในต่างประเทศ อันเป็นการช่วยให้เกิดความประหยัดทรัพยากรในระบบ (เช่น เวลา คน งบประมาณ) ทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างกันเกิดขึ้นอย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยการศึกษาบนฐานเทคโนโลยีดังกล่าวนี้เป็น 1 ในหลักปรัชญาการพัฒนาคน 9 ประการ[1] ของผม

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกจำนวนมากมีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวนี้มาใช้กันอย่างแพร่หลายและพัฒนาต่อยอดให้เกิดความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ เช่น การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนแบบออนไลน์เปิดโอกาสให้ผู้เรียนจากทั่วทุกมุมโลกสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน

ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกที่ให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าวนี้เช่นเดียวกันและมีการพัฒนาก้าวหน้านำเทคโนโลยีร่วมสมัยและสมัยใหม่มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ของนักศึกษา เช่น การนำคลิกเกอร์ (clicker) มาใช้ในห้องเรียน ช่วยให้การเรียนการสอนในห้องเรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยให้นักศึกษาสามารถตอบสนองหรือตอบคำถามของคณาจารย์ได้อย่างรวดเร็วในเวลาจริงที่เกิดขึ้นขณะนั้น เพียงกดคลิกเกอร์จะปรากฏคำตอบหรือความคิดเห็นของนักศึกษาบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ของคณาจารย์

นอกจากที่กล่าวมาดังกล่าวนี้แล้ว ฮาร์วาร์ดยังมีแนวทางการจัดการศึกษาบนฐานเทคโนโลยีที่มีความน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา เช่น ที่ผ่านมามีการใช้การสนทนาแบบเห็นหน้า หรือที่เรียกว่า face time ข้ามโลก โดยวิทยาลัยดิวินิตี้ฮาร์วาร์ด (Harvard Divinity School) การสนทนาข้ามโลกดังกล่าวนี้เกิดขึ้นภายในตู้บรรจุสินค้า ใช้เทคโนโลยีช่วยให้เกิดการสนทนาแบบเห็นหน้ากันระหว่างนักศึกษาและกลุ่มผู้พักอาศัยและผู้ลี้ภัยในประเทศเยอรมัน ฉนวนกาซา (Gaza City) ประเทศจอร์แดน ประเทศอิรัก (Iraq) อันเป็นการช่วยเปิดโลกทัศน์มุมมองและประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่นักศึกษาอีกทางหนึ่ง

ในประเด็นดังกล่าวนี้ ผมเคยนำเสนอความคิดโมเดลสมรรถนะ KSL31220 เอาไว้ในหนังสือ คนเก่งสร้างได้ อารยโมเดลสมรรถนะ KSL31220 โดยหนึ่งในทักษะสำคัญที่ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยควรพัฒนาให้เกิดขึ้นในตัวนักศึกษาคือ ทักษะการใช้เทคโนโลยี มีความสามารถนำเทคโนโลยีมาเสริมเพิ่มศักยภาพของตนเอง รู้จักเลือก และนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ การทำงาน และการดำเนินชีวิต การมีทักษะการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวนี้จะส่งเสริมสนับสนุนและเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาในการพัฒนาการเรียนรู้ ช่วยอำนวยความสะดวกให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ที่สำคัญจากทั่วทุกมุมโลกได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะทิ้งท้ายด้วยข้อคิดคำคมของผมที่เคยนำเสนอเอาไว้ในหนังสือ เรื่องเล่าเขย่าคิด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ว่า “เทคโนโลยีช่วยให้มนุษย์เป็นซุปเปอร์แมน” แม้ว่าระยะเวลาจะผ่านมาแล้วมากกว่าทศวรรษ แต่ข้อคิดคำคมประโยคดังกล่าวนี้ยังคงเป็นจริงอยู่เสมอตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และคาดว่าจะยาวไกลถึงอนาคต

 

[1] หลักปรัชญาการพัฒนาคน 9 ประการ ประกอบด้วย การศึกษาบนฐานปรัชญา (Philosophy based Education) การศึกษาบนฐานโลกาภิวัตน์ (Globalization based Education) การศึกษาบนฐานการบูรณาการ (Integration based Education) การศึกษาบนฐานสมรรถนะ (Competency based Education) การศึกษาบนฐานการเมือง (Politics based Education) การศึกษาบนฐานเศรษฐกิจ (Economic based Education) การศึกษาบนฐานเทคโนโลยี (Technology based Education) การศึกษาบนฐานวัฒนธรรม (Culture based Education) และการศึกษาบนฐานมนุษย์ (Human based Education).

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 15 วันศุกร์ 22 – พฤหัสบดี 28 ธันวาคม 2560

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.