การปรับปรุง BRI เพื่อสร้างโลกที่เท่าเทียมกัน

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมอยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และปาฐกถาตามคำเชิญของ ‘New Silk Roads Network’ โดยเข้าร่วม 1st one-day Belt and Road Initiative (BRI) Symposium ในฐานะวิทยากรและผู้ดำเนินการประชุมในหลายเซสชั่นของการประชุม

โดยในเซสชั่นหนึ่งของการประชุม ผมได้รับมอบหมายให้บรรยายในหัวข้อ “ผลกระทบ โอกาส ความท้าทาย ความเสี่ยง และบทเรียน จากความริเริ่มแถบและเส้นทาง ที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความมั่นคง และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์”

การดำเนินงานตลอด 6 ปีที่ผ่านมาของ BRI แม้จะได้รับทั้งดอกไม้และก้อนหิน ผลกระทบที่เกิดจากโครงการในประเทศต่าง ๆ นานาชาติเกิดความหวาดระแวงสงสัยต่อท่าทีของรัฐบาลปักกิ่ง ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างหลักการและการกระทำของจีน การสร้างอาณานิคมรูปแบบใหม่ การลงทุนที่ไม่โปร่งใส การผูกขาดและครอบงำโดยวิสาหกิจของจีน ผลประโยชน์ที่ตกไปไม่ถึงคนในท้องถิ่น และผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

จากการวิเคราะห์ปัญหาและบทเรียนของการดำเนินงานโครงการ BRI ในประเทศต่าง ๆ ผมได้ให้ข้อเสนอแนะในการปรับเปลี่ยนทิศทางและพัฒนาความร่วมมือภายใต้ BRI ให้เกิดความมั่นคงและความสัมพันธ์อันดี ทั้งภายในและระหว่างประเทศ ไว้หลายประเด็น

1. การทำให้เป็นสากล (Universalization)
BRI ยังมีภาพที่รัฐบาลปักกิ่งครอบงำอย่างชัดเจน ทำให้มหาอำนาจอื่นและประเทศต่าง ๆ เกิดความหวาดระแวงว่า BRI ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแผ่ขยายอิทธิพล เอื้อประโยชน์แก่จีน
BRI จึงควรได้รับการพัฒนาให้เป็นสากลมากขึ้น ไม่ถูกครอบงำโดยจีนมากหรือชัดเจนเกินไป เช่น การให้ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว เข้ามามีส่วนร่วมสมทบเงินลงทุนมากขึ้น เปิดให้ประเทศอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมกำหนดทิศทางนโยบาย การตัดสินใจ และร่วมดำเนินการมากขึ้น

2. การกระจายผลประโยชน์ (Distribution)
ท่าทีและนโยบายของจีนทำให้ถูกตีความว่า มุ่งประโยชน์ของตนเป็นหลัก เช่น การพัฒนาโครงสร้างฐานในลักษณะที่ถนนทุกสายมุ่งสู่จีน ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงและโครงข่าย 5G ซึ่งจีนเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ให้เงินกู้แบบมีเงื่อนไขว่า ต้องใช้เทคโนโลยีและแรงงานจากจีน การกำหนดนโยบาย “Made in China” การที่จีนยังไม่เปิดตลาดในประเทศมากนัก

แม้รัฐบาลจีนพยายามเปิดตลาดในประเทศมากขึ้น แต่ผมเห็นว่ายังไม่เพียงพอ จีนควรปรับท่าทีและนโยบาย กระจายผลประโยชน์ สร้างความไว้วางใจมากขึ้น เช่น สนับสนุนการพัฒนาที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศ เพราะบางประเทศยังไม่จำเป็นต้องมีรถไฟความเร็วสูง แต่มีโครงการอื่นที่จำเป็นมากกว่า เช่น การศึกษา สาธารณสุข ชลประทาน เป็นต้น ปรับนโยบายเศรษฐกิจเป็น “Made by China” เพื่อให้ประเทศอื่นได้รับประโยชน์จากการลงทุนโดยตรงจากจีนด้วย

3. การสร้างความร่วมมือระหว่างมหาอำนาจ (Cooperation)
เอเชีย-แปซิฟิกมีความตึงเครียดและความเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าทางทหารของมหาอำนาจ เพราะจีนพยายามปกป้องเส้นทางการค้าของตัวเอง การลงทุนในท่าเรือและตั้งฐานทัพนอกประเทศ การอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ขณะที่สหรัฐฯ กำหนดยุทธศาสตร์ “อินโด-แปซิฟิก” ร่วมมือกับพันธมิตร 4 ประเทศจัดตั้ง “the Quad” ปิดล้อมการแผ่อิทธิพลของจีน

ผมได้เสนอว่า ประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ควรเปลี่ยนท่าที หันมาร่วมมือกันมากขึ้น เช่น การร่วมฝึกซ้อมทางทหารระหว่างมหาอำนาจ โดยอาเซียนอาจทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสร้างความร่วมมือนี้ การร่วมจัดตั้ง APTO (Asia-Pacific Treaty Organization) เน้นป้องกันและแก้ไขภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เปลี่ยนพื้นที่พิพาทเป็นพื้นที่ร่วมพัฒนา

4. การเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วม (Participation)
โครงการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนามีความเสี่ยงจะเกิดผลกระทบทางลบ เพราะประเทศเหล่านี้ขาดผู้เชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับโครงการขนาดใหญ่ มักเกิดจากการเจรจาระหว่างรัฐบาล ซึ่งต่างฝ่ายต่างต้องการให้เกิดโครงการลงทุนอยู่แล้ว ทำให้มีความโน้มเอียงในการอนุมัติโครงการโดยขาดความรอบคอบ บางโครงการให้กู้แก่ประเทศที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ ทำให้มีความเสี่ยงเกิดคอร์รัปชัน และปัญหาหนี้สาธารณะ

ผมจึงเสนอว่า รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ควรเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ BRI มากขึ้น อาทิ การพัฒนากฎและมาตรฐานความร่วมมือภายใต้ BRI การส่งเสริมความโปร่งใสของโครงการฯ รับฟังความเห็นจากประชาชน การให้ผู้เล่นอื่น ๆ มีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะการให้ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศที่สามมาเป็นที่ปรึกษาโครงการ

5. การส่งเสริมกลไกตลาด (Marketization)
โครงการลงทุนภายใต้ BRI มักจะเป็นสัญญาสัมปทานแบบที่ไม่ต้องผ่านการประมูล ส่วนเงินกู้จากรัฐวิสาหกิจของจีนมักเป็นเงินกู้แบบมีเงื่อนไข เช่น การซื้อเทคโนโลยีของจีน จ้างธุรกิจและแรงงานจีน มีความเสี่ยงที่ประเทศผู้รับการลงทุนจะไม่ได้รับประโยชน์มากนัก

ผมเห็นว่า การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ควรใช้กลไกตลาดหรือให้มีการแข่งขันมากขึ้น เช่น การแสวงหาทางเลือกการระดมเงินทุนจากหลายแหล่ง แทนที่จะพึ่งพิงเพียงแหล่งเดียว การระดมทุนหลายรูปแบบ ทั้งการกู้เงิน การร่วมลงทุน และสร้างการแข่งขัน เพื่อคัดเลือกผู้เข้ามารับสัมปทานหรือดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่

6. การใช้แนวทางที่เป็นองค์รวม (Holistic approach)
ที่ผ่านมา การลงทุนของจีนในประเทศกำลังพัฒนา สร้างปัญหาและความไม่พอใจแก่ประชาชนในประเทศที่เข้าไปลงทุน จากการพัฒนาที่แยกส่วน โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจ แต่สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ปัญหาธุรกิจจีนเข้ามาแย่งตลาด แย่งทรัพยากรจากคนท้องถิ่น รวมทั้งปัญหาคอร์รัปชันและกับดักหนี้

ด้วยเหตุนี้ BRI ควรใช้แนวทางการดำเนินงานแบบองค์รวมมากขึ้น คำนึงถึงประเด็นการพัฒนาด้านอื่น ๆ เช่น บริบทการพัฒนาของแต่ละท้องถิ่น การยอมรับของประชาชน ต้นทุนทางสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนทางการคลัง

ในมิติพื้นที่ การลงทุนภายใต้ BRI ควรคำนึงถึง การกระจายผลประโยชน์สู่ท้องถิ่น การกระจายต้นทุนและผลประโยชน์ระหว่างประเทศมากขึ้น เช่น การสร้างรถไฟความเร็วสูง สายคุนหมิง-สิงคโปร์ ในประเทศไทยและลาว มีต้นทุนสูงเพราะระยะทางไกล แต่อาจได้รับประโยชน์ไม่คุ้มค่า BRI จึงควรมีการพัฒนากลไก เพื่อกระจายต้นทุนและผลประโยชน์ระหว่างประเทศ

ผมได้ปาฐกถาปิดเสนอความเห็นใน World Policy Conference 2017 ที่ประเทศโมร็อกโก ไว้ว่า ระเบียบโลกในปัจจุบันที่ผมเสนอว่าเป็น Post New World Order ซึ่งมีลักษณะเป็น “Pragmatic world order” ที่แต่ละประเทศมุ่งผลประโยชน์ของตัวเอง แต่ผมเห็นว่า การปรับปรุง BRI จะเป็นโอกาสที่จะนำโลกไปสู่ Future World Order ที่ผมขอตั้งชื่อ “Distributive Prosperity Order” ซึ่งทำให้โลกได้ประโยชน์ร่วมกัน

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.