แนวคิดประสิทธิเขต : ฮาร์วาร์ดสะท้อนแนวคิดนี้

ผมเคยนำเสนอความคิดเกี่ยวกับ โมเดลยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสภาพ 8E หรือ Dr. Dan Can Do 8E Management Strategy Model เอาไว้ในบทความก่อนหน้านี้ สำหรับเป็นกรอบความคิดหรือต้นแบบการบริหารจัดแนวใหม่ให้แก่หน่วยงาน องค์กร อันจะนำสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนทะลุมิติข้ามกาลเวลา ประกอบด้วย ประสิทธิภาพ (Efficiency) ประสิทธิการ (Excellence) ประสิทธิผล (Effectiveness) ประสิทธิคุณ (Esteemed–Valuableness) ประสิทธิสาร (Esthetic–Worthiness) ประสิทธิคูณ (Exponentiality) ประสิทธิเขต (Externality) และประสิทธิกาล (Eschatonicity)  

ประสิทธิเขต (Externality) หรือ ยุทธศาสตร์ประสานพลังบูรณาการขยายผลลัพธ์นอกขอบเขต เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ผมจะนำเสนอในบทความครั้งนี้ อันสะท้อนผ่านแนวทางการจัดการศึกษาของฮาร์วาร์ดหลายกรณีแบบไม่จงใจ

ประสิทธิเขตเป็นศัพท์ที่ผมบัญญัติขึ้นอันเกิดมาจากการรวมคำ 2 คำเข้าด้วยกัน คือ “ประสิทธิ” + “เขต” โดยพจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 นิยามคำว่า ประสิทธิ หมายถึง ความสำเร็จ หรือ ทำให้สำเร็จ ขณะที่คำว่า เขต ทั่วไปให้ความหมายถึง อาณาบริเวณ เขตแดน อาณาเขต บริเวณ ด้วยเหตุนี้ เมื่อนำคำ 2 คำมารวมเข้าด้วยกัน ผมจึงให้ความหมายว่าหมายถึง การประสานพลังเชิงบูรณาการผลกระทบสู่ผลปรากฏนอกกรอบเดิม ทั้งกรอบแนวนอนเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์ เช่น การขยายผลการจัดการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในประเทศสู่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และกรอบแนวตั้งเชิงประเด็น เช่น การประยุกต์นำโทรศัพท์มือถือจากเดิมที่ใช้สำหรับการโทรศัพท์เพียงอย่างเดียวมาเป็นอุปกรณ์ให้บริการการศึกษา กรอบใดกรอบหนึ่งหรือทั้งสองกรอบ

ประสิทธิเขตเป็นยุทธศาสตร์การบริหารสู่ความสำเร็จที่สำคัญ อันจะส่งผลทำให้เกิดการขยายผลลัพธ์เลอค่าปรากฏนอกกรอบเดิม และมีส่วนสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยอีกทางหนึ่ง

ฮาร์วาร์ดสะท้อนความคิดยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิเขตของผมดังกล่าวนี้ในหลายกรณีแบบไม่จงใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายขอบเขตการให้บริการทางการศึกษาจากฮาร์วาร์ดสู่สถาบันการศึกษาอื่นๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และขยายขอบเขตทางดิ่งด้วยการสร้างให้เกิดผลกระทบทางด้านการศึกษาและการวิจัยสู่ปริมณฑลใหม่ที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

การบริหารประสิทธิเขตขยายผลกระทบสู่ผลปรากฏนอกกรอบเดิมที่เป็นกรอบแนวนอนเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์

ตัวอย่างสำคัญของยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิเขตแนวนอนกรณีของฮาร์วาร์ดดังกล่าวนี้มีอยู่หลายกรณีด้วยกัน เช่น การให้บริการการศึกษาออนไลน์ร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักระดับโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา อเมริกาเหนือ ยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย ที่เรียกว่า EdX ตามที่ผมเคยนำเสนอในบทความก่อนหน้านี้ ปัจจุบันการศึกษาออนไลน์ดังกล่าวเปิดให้บริการหลากหลายมากกว่า 1,000 รายวิชา มีผู้เรียนทั่วโลกมากกว่า 10 ล้านคน เช่น วิชาคอมพิวเตอร์กราฟฟิค (Computer Graphics) วิชาวิทยาการหุ่นยนต์ : พลวัตและการควบคุม (Robotics : Dynamics and Control) วิชาการจัดการการทดสอบซอฟต์แวร์ (Software Testing Management)

EdX เป็นการศึกษาออนไลน์ที่ได้รับความสนใจและเป็นที่ยอมรับอย่างมากในปัจจุบัน และเป็นตัวอย่างรูปธรรมที่อธิบายยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิเขตขยายผลกระทบสู่ผลปรากฏนอกกรอบเดิมที่เป็นกรอบแนวนอนเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์ ขยายผลการจัดการศึกษาจากฮาร์วาร์ดสู่มหาวิทยาลัยและกลุ่มผู้รับบริการในต่างประเทศทั่วทุกมุมโลก

การบริหารประสิทธิเขตขยายผลกระทบสู่ผลปรากฏนอกกรอบเดิมที่เป็นกรอบแนวตั้งเชิงประเด็น

กรณีตัวอย่างรูปธรรมของยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิเขตขยายผลกระทบสู่ผลปรากฏนอกกรอบเดิมที่เป็นกรอบแนวตั้งเชิงประเด็นนั้น ระบบบ้านพักนักศึกษาของฮาร์วาร์ดเป็นตัวอย่างสะท้อนความคิดดังกล่าวนี้ โดยเป็นการขยายผลจากเดิมที่มีวัตถุประสงค์ใช้สำหรับเป็นสถานที่พักอาศัยเท่านั้น แต่ได้ขยายขอบเขตไปให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางวิชาการ  เช่น การออกแบบให้มีห้องสมุด ห้องสำหรับการสอนพิเศษ และขยายผลเป็นสถานที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจให้แก่นักศึกษา เช่น การจัดให้มีการแสดงดนตรีที่เปิดให้สาธารณะเข้าฟังได้ การมีพื้นที่สำหรับการแสดงนิทรรศการศิลปะ โรงภาพยนตร์ กิจกรรมการกีฬาภายในบ้านพัก

ผมคิดว่า มหาวิทยาลัยไทยสามารถนำยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิเขตที่สะท้อนตัวอย่างรูปธรรมผ่านการจัดการศึกษาของฮาร์วาร์ดดังกล่าวนี้มาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษา อันจะส่งเสริมสนับสนุนให้การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกิดประสิทธิสภาพหรือประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่งครับ

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 52 วันศุกร์ 8 – พฤหัสบดี 14 กันยายน 2560

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.