แนวคิดประสิทธิสาร : ฮาร์วาร์ดทำสิ่งที่เป็นแก่นสาระ มีคุณค่าสูงสุด

ผมนำเสนอความคิดเกี่ยวกับ โมเดลยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสภาพ 8E หรือ Dr. Dan Can Do 8E Management Strategy Model ในบทความก่อนหน้านี้ บทความครั้งนี้เช่นเดียวกันผมขอเสนอยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสาร (Esthetic–Worthiness) หรือ ยุทธศาสตร์การบริหารเพื่อผลลัพธ์ที่เลอค่า อันเป็นยุทธศาสตร์ ในโมเดลยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสภาพ 8E ของผม

ความหมายของยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสาร

ประสิทธิสารเป็นศัพท์ที่ผมบัญญัติขึ้นอันเกิดมาจากคำ 2 คำ คือ “ประสิทธิ” + “สาระ” โดยพจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 นิยามคำว่า ประสิทธิ หมายถึง ความสำเร็จหรือทำให้สำเร็จ ขณะที่คำว่า สาระ มาจากคำว่า “ผลสาร” หมายความถึง แก่นสาระของผลที่เกิดขึ้นหรือสิ่งที่เป็นแก่นสาร เป็นประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อนำคำ 2 คำมารวมเข้าด้วยกัน ผมจึงให้ความหมายว่า การทำให้สิ่งที่เป็นแก่นสาระหรือมีประโยชน์ ทั้งนี้สิ่งที่เป็นแก่นสาระจะต้องมีคุณค่าสูงสุดท่ามกลางสิ่งที่มีคุณค่าทั้งหลาย ผมเรียกสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดนี้ว่า “เลอค่า”  

 “มูลค่า” “คุณค่า” และ “เลอค่า” แตกต่างกันในการให้นิยามของผมกล่าวคือ มูลค่าเป็นสิ่งที่สามารถตีเป็นราคาหรือตัวเงินได้ แต่อาจจะไม่มีคุณค่า สิ่งที่มีคุณค่าสูงอาจเป็นสิ่งที่มีมูลค่าน้อย แต่สิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดกว่าการมีคุณค่าใดและเกินกว่าที่จะสามารถประมาณมูลค่าหรือคุณค่าได้ ผมเรียกว่าเป็นสิ่งที่ “เลอค่า”  

ประสิทธิสารเป็นยุทธศาสตร์การบริหารบนแก่นสาระเลอค่าท่ามกลางคุณค่าที่มีอยู่ อันจะส่งผลช่วยให้การบริหารสามารถสร้างประโยชน์ เกิดคุณค่าสูงสุดแท้จริง มิเพียงมีมูลค่าหรือคุณค่าเท่านั้น

ฮาร์วาร์ดสะท้อนความคิดยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสารแบบไม่จงใจ

หากพิจารณากรณีของฮาร์วาร์ด ผมเห็นว่าสะท้อนความคิดยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสารของผมดังกล่าวนี้หลายกรณีแบบไม่จงใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างผลกระทบต่อชุมชนและท้องถิ่น ทำให้สังคมได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย เช่น การเปิดโอกาสให้ชุมชนละแวกใกล้เคียงได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของมหาวิทยาลัยและการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมและชุมชนอย่างเต็มที่ผ่านกิจกรรมการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย

ตัวอย่างสำคัญของยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสารกรณีของฮาร์วาร์ดดังกล่าวนี้คือ การช่วยเหลือเด็กนักเรียนจากครอบครัวมีรายได้น้อยในแต่ละปี แม้ฮาร์วาร์ดจะมีทางเลือกหลากหลาย เช่น การให้บริการวิชาการสนับสนุนการศึกษา และการเรียนรู้แก่เด็กนักเรียนเหล่านี้  เป็นต้น แต่ฮาร์วาร์ดเลือกให้ความสำคัญกับการสนับสนุนและลดอุปสรรคทางการเงินแก่เด็กนักเรียนเหล่านี้ให้ได้เข้าศึกษาแบบเต็มเวลาในมหาวิทยาลัย หยิบยื่นโอกาสที่ดีที่สุดทางการศึกษา เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนเหล่านี้ได้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศการเรียนการสอนภายในมหาวิทยาลัย ด้วยการให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามความจำเป็นแก่เด็กนักเรียนกลุ่มดังกล่าว ทั้งที่เป็นทุนเต็มจำนวน เงินกู้ยืม การจ้างงานนักศึกษา และการจัดหาการสนับสนุนทางการเงินจากแหล่งทุนภายนอก เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนที่มีปัญญาเลิศ แม้มาจากครอบครัวที่มีความจำกัดทางการเงินให้มีโอกาสเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีคุณภาพอันดับต้นของโลกและมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งนี้จากข้อมูลของฮาร์วาร์ดระบุว่า นักศึกษาระดับปริญญาตรีมากกว่าร้อยละ 50 ได้รับทุนสนับสนุนการศึกษา ขณะที่ร้อยละ 100 สามารถสำเร็จการศึกษาได้โดยไม่มีหนี้จากการศึกษา และมากกว่าร้อยละ 20 ของครอบครัวของนักศึกษาไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนักศึกษา

นอกจากการสนับสนุนและลดอุปสรรคทางการเงินแก่เด็กนักเรียนที่มาจากครอบครัวมีรายได้น้อยดังกล่าวนี้โดยตรงแล้ว ล่าสุดที่ผ่านมา ข้อมูลจากเว็บไซต์ข่าวของฮาร์วาร์ดยังระบุถึงการตกลงเข้าร่วมเป็นหนึ่งใน 30 วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยรัฐบาลและเอกชนของประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านหน่วยงานที่ชื่อว่า American Talent Initiative ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยดังกล่าวให้บรรลุสู่เป้าหมายการขยายโอกาสการเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีให้แก่เด็กนักเรียนปัญญาเลิศจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยของประเทศสหรัฐอเมริกา

การริเริ่มดังกล่าวนี้มีเป้าหมายต้องการให้มีวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยของประเทศสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมมากกว่า 270 สถาบัน มีอัตราการสำเร็จการศึกษาของกลุ่มเด็กนักเรียนดังกล่าวร้อยละ 70 หรือมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่จะถึงนี้ โดยวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมจะต้องกำหนดเป้าหมาย ดึงดูด รับสมัคร และสนับสนุนการสำเร็จการศึกษาของเด็กนักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยภายในปี ค.ศ. 2025 เป็นจำนวน 480,000 คน ตามที่มีข้อมูลระบุไว้ในเว็บไซต์ของหน่วยงานดังกล่าว

การที่ฮาร์วาร์ดสนับสนุนและลดอุปสรรคทางการเงินให้แก่เด็กนักเรียนที่มาจากครอบครัวมีรายได้น้อยและการตกลงเข้าร่วมเป็นหนึ่งใน 30 วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยรัฐบาลและเอกชนของประเทศสหรัฐอเมริกาดังกล่าวนี้ กำลังสะท้อนให้เห็นถึงการเลือกทำสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดหรือเลอค่า ด้วยว่าจะเป็นฟันเฟืองสำคัญต่อการช่วยลดอุปสรรคและช่องว่างความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำ และช่วยเพิ่มโอกาสการประสบความสำเร็จในชีวิตให้แก่กลุ่มเด็กนักเรียนเหล่านี้ อันเป็นต้นทุนสำคัญที่นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กนักเรียนเหล่านี้เองแล้วยังเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวของพวกเขาด้วย อีกทั้งยังจะเป็นการสร้างต้นแบบแรงบันดาลใจให้แก่สังคมและชุมชน ช่วยพัฒนาเด็กนักเรียนเหล่านี้ให้เป็นคนคุณภาพ เพิ่มโอกาสในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นและอยู่ในตำแหน่งสำคัญของหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ

ผมคิดว่า มหาวิทยาลัยไทยในฐานะเป็นผู้ชี้นำทางปัญญาควรตระหนักและพัฒนาตนเองสู่การเป็นต้นแบบให้กับสังคมในการบริหารจัดการการศึกษาของตนเองให้มิเพียงเลือกทำสิ่งที่มี “มูลค่า” แบบมี “คุณค่า” เท่านั้น แต่ต้องทำสิ่งที่ “เลอค่า” มีคุณค่าสูงสุดด้วย อันจะส่งเสริมสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยสามารถสร้างผลกระทบที่ดีงามให้เกิดแก่สังคมและประเทศชาติได้อย่างแท้จริงครับ

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 1 วันศุกร์ 15 – พฤหัสบดี 21 กันยายน 2560

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.