เส้นทางสายไหมใหม่กับเศรษฐกิจโลก (The New Silk Roads Outlook on the Global Economy)

เมื่อวันที่ 15 – 16 ตุลาคม 2018 ผมได้รับเชิญในฐานะที่ปรึกษา เพื่อเข้าร่วมการประชุม The 1st New Silk Road World Forum 2018 ณ มหาวิทยาลัยมอแนช ประเทศออสเตรเลีย ผมได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับผลกระทบของเส้นทางสายไหมใหม่ต่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และคาดการณ์ถึงศักยภาพของเอเชียต่อเศรษฐกิจโลก

ความริเริ่ม “One Belt and One Road” (OBOR) ถูกประกาศอย่างเป็นทางการในปี 2013 โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เพื่อรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมในอดีตสมัยพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ และพัฒนามาสู่ OBOR ในศตวรรษที่ 21

ความริเริ่มนี้มีเป้าหมายในการเชื่อมเส้นทางการค้าทางบกและทางทะเล โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างเครือข่ายการค้าเชื่อมโยงระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมประชากร 4.5 พันล้านคน ใน 65 ประเทศของทวีปเอเชีย ยุโรป และ แอฟริกา หรือกว่าร้อยละ 60 ของประชากรโลก และมี GDP รวมกันกว่าร้อยละ 40 ของ GDP โลก

ผลกระทบของเส้นทางสายไหมใหม่ต่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศมีหลายประเด็น เช่น

  1. ช่วยให้เศรษฐกิจในภูมิภาคและโลกขยายตัวขึ้น เนื่องจากการลงทุนมูลค่ามหาศาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบราง ท่าเรือ ท่อส่งน้ำมันและก๊าซ ถนน ไฟเบอร์ออพติก เพื่อเชื่อมโยง 3 ทวีปเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีความยาวทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 6 พันกิโลเมตร โดยคาดว่า มูลค่าการลงทุนทั้งหมดของ OBOR จะสูงกว่ามูลค่าปัจจุบันของ Marshall Plan ของสหรัฐฯ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรป หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 11 เท่า

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศ จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงทางการค้า และเปิดประตูการค้าให้กว้างขึ้น ทำให้การค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคขยายตัวสูงขึ้น และเอื้อประโยชน์แก่ทุกประเทศในเส้นทางสายไหม

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจะมากหรือน้อยนั้นยังยากที่จะประเมิน เนื่องจากโครงการนี้ดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป ยังไม่เห็นยุทธศาสตร์ภาพรวมที่ชัดเจน กล่าวคือ ลักษณะความร่วมมือยังเป็นการเจรจากับแต่ละประเทศในลักษณะทวิภาคี ดังนั้นจึงยังไม่อาจประเมินได้ว่า OBOR จะมีโครงการอะไรบ้างที่จะสำเร็จได้จริง

  1. เพิ่มบทบาทของจีนในเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้สินค้าและเทคโนโลยีจากจีนเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง การให้เงินกู้ผ่านธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) จะทำให้เงินสกุลหยวนจะเป็นที่ยอมรับในเวทีโลกมากขึ้น การเจรจากฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศจะเอื้อประโยชน์ต่อจีนมากขึ้น รวมถึงการที่บริษัทจีนเข้าไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนที่ตั้งอยู่ในหลายประเทศ
  2. ผลักดันให้เกิดธรรมาภิบาลในภาครัฐและมาตรฐานของตลาดทุน กล่าวคือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะใช้เงินทุนสูงมาก ทั้งนี้ McKinsey คาดการณ์ว่า OBOR จำเป็นต้องมีเงินลงทุนประมาณ 57 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในระหว่างปัจจุบันจนถึงปี 2030 ซึ่งไม่มีรัฐบาลใดที่สามารถทำได้โดยลำพัง แม้กระทั่งรัฐบาลจีนเองก็ตาม รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จึงต้องร่วมลงทุนกับภาคเอกชน

ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐจึงต้องพัฒนาด้านธรรมาภิบาลและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เพื่อดึงดูดเอกชนและนักลงทุนต่างประเทศมาร่วมลงทุน ประกอบกับความต้องการเงินทุนจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตลาดทุนให้มีมาตรฐานสากล

  1. เพิ่มความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันทางนโยบายต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น หรือความขัดแย้งอันเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินโครงการในประเทศต่างๆ เช่น การพัฒนาเส้นทางสายไหมที่ลากผ่านบริเวณทะเลจีนใต้ ซึ่งมีกรณีพิพาทระหว่างจีนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือการสร้างท่าเรือและฐานทัพในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งสร้างความหวาดระแวงให้กับอินเดีย

ภายใต้การดำเนินยุทธศาสตร์ OBOR และผลกระทบข้างต้น ผมมีมุมมองว่า ประเทศในเอเชียจะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังต่อไปนี้

ประการที่ 1 เป็นผู้บริโภคของโลก

ในอนาคต ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อและคนชั้นกลางเกิดใหม่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นทั่วโลก โดย 2 ใน 3 จะเกิดขึ้นในเอเชีย เช่นเดียวกับมหาเศรษฐีใหม่จะเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเศรษฐีจำนวนมากอยู่ในจีนและอินเดีย นิตยสาร Hurun ของจีน ได้จัดอันดับประเทศที่มีมหาเศรษฐีมากที่สุดในโลก โดยพิจารณาจากคนร่ำรวยที่สุด 2,089 รายทั่วโลก พบว่า ประเทศที่ครองแชมป์อันดับ 1 ได้แก่ จีน จำนวน 537 ราย รองลงมา คือ สหรัฐฯ  430 ราย อันดับ 3 คือ อินเดีย 97 ราย และอันดับ 4 คือ รัสเซีย 93 ราย

ประการที่ 2 เป็นผู้ผลิตของโลก

แนวโน้มที่เริ่มปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน คือ บรรษัทข้ามชาติจากเอเชียจะมีอิทธิพลมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากขนาดของตลาดในประเทศและการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชีย ทำให้บริษัทในเอเชียมีขนาดใหญ่ขึ้น ประกอบกับการเคลื่อนย้ายแรงงานและทุนได้เสรีมากขึ้น จะทำให้บริษัทเหล่านี้ออกไปลงทุนนอกประเทศมากขึ้น ทำให้กระบวนการผลิตเป็นเครือข่ายข้ามพรมแดน และบรรษัทเหล่านี้มีบทบาทในเศรษฐกิจท้องถิ่นมากขึ้น

ประการที่ 3 เป็นแหล่งแรงงานของโลก

ในปี 2030 แนวโน้มปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะเกิดขึ้นทั่วโลก โดยประเทศในยุโรปทุกประเทศจะขาดแคลนแรงงาน เช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกา (ยกเว้นสหรัฐ) จะขาดแคลนแรงงาน ส่วนประเทศในเอเชียแปซิฟิกจะขาดแคลนแรงงานน้อยที่สุด โดยเฉพาะอินเดียที่มีแรงงานส่วนเกิน อินโดนีเซียที่มีคนอายุน้อยกว่า 30 ปีถึงครึ่งประเทศ และประเทศเอเชียหลายประเทศยังเป็นสังคมหนุ่มสาว

ประเทศที่ขาดแคลนแรงงานจะพยายามดึงดูดแรงงานจากประเทศที่มีแรงงานส่วนเกิน ทำให้แรงงานในเอเชีย ซึ่งมีแรงงานส่วนเกินเป็นที่ต้องการของประเทศต่างๆ ในโลก

ประการที่ 4 เป็นแกนนำของโลก

ความถดถอยของมหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐและยุโรป ทำให้โลกต้องการขั้วอำนาจที่สาม ซึ่งเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพเป็นแกนนำของขั้วอำนาจที่สาม

ผมได้เสนอแนวคิดเรื่อง BRICKSJAM ไว้ในการประชุม The 3rd World Chinese Economic Forum ว่า BRICKSJAM ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น อาเซียน และตะวันออกกลาง โดย BRICKS หมายถึง ก้อนอิฐหลายก้อน อันเปรียบได้กับ แกนหลัก และ JAM หรือแยมขนมปัง หรือตัวเชื่อม อันจะช่วยสร้างความเป็นอารยธรรมบูรณาการใหม่ให้เกิดขึ้นนอกขั้วตะวันตก (New Integrated Civilization) เนื่องจากอารยธรรมเกิดขึ้นเองไม่ได้ แต่ต้องมีหลายองค์ประกอบช่วยสร้างให้เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี เรายังคงต้องติดตามต่อไปว่าเส้นทาง One Belt One Road หรือเส้นทางสายไหมใหม่ จะสร้างความร่วมมือจากหลากหลายประเทศมากกว่าความขัดแย้งหรือไม่ แล้วจะมีโครงการระหว่างประเทศใดบ้างที่ส่งผลกกระทบให้เกิดเปลี่ยนแปลงและพัฒนาต่อเศรษฐกิจโลก

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.