คอลัมภ์ : การเมือง : ทัศนะวิจารณ์
บราซิลเป็นประเทศที่ผมได้คาดการณ์นานกว่าสิบปีแล้ว ว่า จะเป็นประเทศที่เติบโตทางเศรษฐกิจ
และได้แนะนำให้ประเทศไทยทำความรู้จักและสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ กับประเทศนี้ให้มาก แต่จนถึงขณะนี้ บราซิลยังคงเป็นประเทศที่เราไม่รู้จักเท่าที่ควร…น่าเสียดายยิ่ง หากเราทิ้งโอกาสนี้ไปอีกครั้ง
บราซิลเป็นหนึ่งในสี่ของกลุ่มประเทศ “BRIC” ประกอบด้วย ประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ซึ่งได้รับการคาดหมายว่า 4 ชาตินี้ จะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ของโลก บราซิลมีประชากรเกือบ 300 ล้านคน เป็นประเทศที่ใหญ่มาก มีความเชี่ยวชาญหลายด้าน และมีความก้าวหน้าในด้านต่างๆ เป็นประเทศที่เรียกได้ว่า พร้อมสำหรับอนาคต? ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากบราซิล เพื่อไปเยี่ยมชมกิจการต่างๆ ได้มีโอกาสเข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล นักวิชาการ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและนักธุรกิจรายใหญ่ ได้เยี่ยมชมหน่วยงานต่างๆ ผมได้นำเสนอประเทศไทยให้นักลงทุนเหล่านี้เห็นศักยภาพในการมาลงทุนในประเทศไทยด้วย เพราะต้องยอมรับว่าคนบราซิลยังไม่รู้จักประเทศไทยดีนัก ผมได้เห็นความเจริญก้าวหน้าในหลากหลายด้านของประเทศบราซิล ที่มาจากการมีวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ เพราะเป็นการดำเนินการที่มีการวางแผนระยะยาวและหลายเรื่องได้เริ่มดำเนินการมาหลายสิบปีแล้ว สิ่งที่ผมเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย อาทิเช่น
ความก้าวหน้าด้านพลังงานทดแทน โดยเฉพาะเรื่องเอทานอลจากอ้อย บราซิลมีความชำนาญมาก เนื่องจากบราซิลเป็นประเทศที่มีวิสัยทัศน์ เป็นประเทศแรกๆ ที่ลงทุนอย่างจริงจัง เพื่อใช้พลังงานเอทานอล ตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน และในปัจจุบันเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จแล้ว บราซิลได้นำอ้อยมาเป็นพลังงานเอทานอลสำหรับใช้กับรถยนต์ โดยเทคโนโลยีการทำนั้นสามารถทำให้ไม่มีของเสียเหลือเลย คือ เป็น zero waste เวลานี้รถยนต์ที่บราซิลใช้เอทานอลเกือบทั้งหมด โดยจำหน่ายลิตรละประมาณ 18 บาท ขณะที่น้ำมันเบนซินแพงกว่าสองเท่า รถยนต์ที่ขายในบราซิลส่วนใหญ่ จึงเป็นรถแบบ flex คือ ใช้ทั้งเอทานอล หรือน้ำมันธรรมดาก็ได้??
ผมได้ไปเยี่ยมชมหน่วยงานวิจัยและพัฒนาแห่งหนึ่ง ซึ่งพยายามหาทางใช้ประโยชน์จากอ้อยให้ได้มากที่สุดอย่างครบวงจร โดย 1. ทำเป็นน้ำตาล 2. ทำเป็นเอทานอล 3. ทำเป็นไบโอดีเซล 4. ทำเป็นพลาสติก 5. นำกากอ้อยทำเป็นพลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังมีการทำวิจัยเพื่อหาวิธีเพิ่มผลผลิตอ้อยจากเดิม 2-3 เท่า และทำวิจัยว่าจะนำชานอ้อยมาทำเป็นเอทานอลระดับสอง ระดับสาม เพื่อพยายามใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดได้อย่างไร
ความสำเร็จในการผลิตเอทานอลของบราซิล นับเป็นโอกาสที่ดีของการพัฒนาพลังงานทางเลือกในประเทศไทย ผมได้พูดคุยกับนักลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของบราซิล เพื่อให้เขาสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเขาให้ความสนใจเป็นอย่างดี แม้ขณะนี้ ยังไม่มั่นใจในเสถียรภาพการเมืองไทยมากเท่าใดนัก??
ความก้าวหน้าด้านการวิจัยและพัฒนา บราซิลมีความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมาก มีหน่วยงานวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หน่วยงานวิจัยด้านไอทีแห่งหนึ่งที่ผมได้ไปเยี่ยมชม มีเทคโนโลยีการใช้บัตรที่ไม่ใช่แถบแม่เหล็กในการตัดเงินสำหรับโทรศัพท์สาธารณะที่สามารถดูแลรักษาได้ง่าย ทำให้เขาสามารถติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะได้ทั่วถึงทั้งประเทศแม้ในที่ห่างไกล เทคโนโลยีด้านโทรศัพท์สำหรับคนหูหนวก โดยแปลงสัญญาณเสียงมาเป็นตัวอักษรเพื่อให้คนหูหนวกอ่านได้ ได้เยี่ยมชมอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ฝังชิพในวัวทุกตัว โดยมีหลายวิธี อาทิเช่น ติดที่หู ให้กลืนเข้าไปตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้รู้ว่าวัวตัวนั้นไปไหน บริโภคอะไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกวัวไปยุโรป ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องอาหาร และผมเชื่อมั่นว่าอีกไม่เกิน 2 ปี สินค้าทุกชิ้นในบราซิลจะฝังชิพ ทำให้รู้ข้อมูลทั้งหมด อาทิเช่น รู้ว่าสินค้าผลิตที่ไหน เมื่อไร ขายไปไหน ฯลฯ
ที่สำคัญ งานวิจัยที่เกิดขึ้นจะมีการนำมาพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ โดยที่บราซิลจะมีศูนย์ที่เรียกว่า Incubator หรือที่ฟักบ่มธุรกิจอยู่หลายแห่ง โดยจะนำงานวิจัยจากหน่วยงานวิจัยต่างๆ มาสำรวจความเป็นไปได้ ว่า สามารถนำมาดำเนินการทางธุรกิจหรือเอามาตั้งเป็นบริษัทได้หรือไม่ และคนที่ต้องการทำธุรกิจจะมาฝังตัวอยู่ในอินคิวเบเตอร์นี้ประมาณ 4-5 ปี และพอเข้าที่แข็งแรงก็ออกไปเปิดบริษัท หน่วยงานประเภทนี้ช่วยทำให้เกิดการเพาะบ่มธุรกิจที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ๆ นวัตกรรมทางการผลิตที่มาจากห้องแล็บหรือมาจากงานวิจัย กลายเป็นธุรกิจต่างๆ ต่อยอดขึ้นมาจำนวนมาก?
ความก้าวหน้าด้านวิจัยและพัฒนา นับเป็นโอกาสดีในการแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยการเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและมหาวิทยาลัยในบราซิล มหาวิทยาลัยบราซิลหลายแห่งติดอันดับ 1 ใน 100 ของโลก ผลิตผลงานวิจัยออกมาจำนวนมาก ผมมีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย ได้ชวนเขาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ในการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี แลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ ซึ่งเขาเต็มใจและสนใจมาก ผมจะเซ็นตอบ MOU เพื่อความร่วมมือนี้ในไม่ช้า??
ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจำเป็นต้องรู้จัก เรียนรู้ และร่วมมือกับประเทศบราซิลให้มากขึ้น โดยสิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินการในเบื้องต้น ได้แก่
การตั้งศูนย์บราซิลศึกษาในประเทศไทย ผมคิดว่าเรื่องแรกที่เราควรทำทันที นั่นคือ การตั้งศูนย์บราซิลศึกษา ในประเทศไทย โดยเป็นศูนย์ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อให้คนไทยรู้จักบราซิลมากขึ้น เพราะถ้าเราไม่รู้จัก เราจะไปทำธุรกิจ ค้าขาย แลกเปลี่ยนความร่วมมือในเรื่องต่างๆ ได้ยาก ในขณะเดียวกัน เราจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการตั้ง ศูนย์ไทยศึกษา ขึ้นในประเทศบราซิล เพื่อทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันในด้านต่างๆ ทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนา การศึกษา เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ฯลฯ
ส่งเสริมภาษาบราซิเลี่ยน-โปรตุกีส เป็นภาษาทางเลือก ปัจจุบันในโรงเรียนหลายแห่งมีภาษาที่สามให้เลือกเรียน อาทิเช่น ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาสเปน ภาษาจีน แต่ผมคิดว่าควรเพิ่มภาษาบราซิเลี่ยน-โปรตุกีส เป็นภาษาทางเลือกอีกหนึ่งภาษา โดยการรู้ภาษาบราซิเลี่ยน-โปรตุกีส จะทำให้สื่อสารกับประเทศโปรตุเกสได้ ขณะเดียวกัน ยังทำให้สื่อสารกับประเทศที่ใช้ภาษาสเปน อาทิเช่น ประเทศในอเมริกาใต้ได้อีกถึงระดับหนึ่ง และที่สำคัญ การใช้ภาษาบราซิเลี่ยน-โปรตุกีส จะเพิ่มโอกาสให้กับคนไทยในการเรียนรู้จักประเทศบราซิลให้ดียิ่งขึ้น และควรมีการสอนภาษานี้ในระดับมหาวิทยาลัยด้วย เพื่อเป็นเส้นทางแห่งโอกาสให้กับอนาคตของประเทศต่อไป?
การจับมือเป็นมิตรและรู้จักกับบราซิลให้มากขึ้น เป็นเส้นทางที่จะช่วยให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคตแห่งนี้บ้าง ผมได้รับการขอร้องจากหน่วยการลงทุนของประเทศบราซิลให้ ผมเป็นตัวกลางในเรื่องการค้าและการลงทุน และความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ในประเทศบราซิลกับประเทศไทย ซึ่งผมเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์กับประเทศไทยมาก และผมยินดีทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานงานให้ เพื่อมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจเรากระเตื้องขึ้นในระยะยาวได้บ้าง
?
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com