ฮาร์วาร์ดสนับสนุนวิจัยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ตามที่ผมเคยนำเสนอในหลายบทความก่อนหน้านี้เกี่ยวกับความคิดของฮาร์วาร์ดที่ต้องการขับเคลื่อนผลักดันประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) อย่างจริงจัง ความพยายามของฮาร์วาร์ดดังกล่าวนี้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ล่าสุดกองทุนวิจัยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางภูมิอากาศ หรือ Climate Change Solutions Fund ได้ออกมาประกาศผลโครงการวิจัยที่ผ่านการคัดเลือกของปีที่ 2 ทั้งหมดจำนวน 10 โครงการ รวมเป็นจำนวนเงินมากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายหลังจากให้การสนับสนุนครั้งแรกในช่วงต้นปีการศึกษา ค.ศ. 2014 – 2015 ที่ผ่านมา 

ผมเห็นว่า โครงการวิจัยที่ผ่านการคัดเลือกในครั้งนี้มีลักษณะที่น่าสนใจบางประการที่เป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยไทยในการนำมาปรับประยุกต์ใช้เพื่อการออกแบบและพัฒนาการวิจัยของตนเอง ดังนี้

เน้นวิจัยหลากหลายสาขาวิชา โครงการวิจัยที่ผ่านการคัดเลือกของกองทุนวิจัยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางภูมิอากาศครั้งนี้ประกอบกันขึ้นจากโครงการวิจัยหลากหลายสาขาวิชา  โครงการวิจัยเหล่านี้มีความสอดคล้องกับทิศทางการวิจัยภาพรวมของฮาร์วาร์ดที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดการศึกษาวิจัยแบบสหวิทยาการและบูรณาการข้ามศาสตร์ เพื่อขยายขอบเขตการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางภูมิอากาศให้มีมิติของความลึกซึ้งและกว้างไกลมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการศึกษาเรียนรู้และการปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวนี้ในอนาคต 

สำหรับโครงการวิจัยที่ผ่านการคัดเลือกในครั้งนี้เป็นผลงานของคณาจารย์จาก 6 วิทยาลัยของฮาร์วาร์ด ประกอบด้วย คณาจารย์จากคณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (Faculty of Arts and Sciences) คณาจารย์จากวิทยาลัยกฎหมายแห่งฮาร์วาร์ด (Harvard Law School) คณาจารย์จากวิทยาลัยเคนเนดี้สคูลแห่งฮาร์วาร์ด (Harvard Kennedy School) คณาจารย์จากวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ จอห์น เอ. พอลสัน แห่งฮาร์วาร์ด (Harvard John A. Paulson School of Engineering and Applied Sciences) คณาจารย์จากวิทยาลัยสาธารณสุข ที.เฮช. ชาน แห่งฮาร์วาร์ด (Harvard T.H. Chan School of Public Health) และคณาจารย์จากบัณฑิตวิทยาลัยการออกแบบแห่งฮาร์วาร์ด (Harvard Graduate School of Design)

พัฒนาประเด็นวิจัยหลากหลาย กองทุนวิจัยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางภูมิอากาศเปิดกว้างสำหรับประเด็นการวิจัยหลากหลายในเรื่องดังกล่าวนี้ อันจะส่งผลทำให้เกิดมิติมุมมองหลากหลาย ซึ่งเมื่อนำมาประกอบเข้าด้วยกันจะทำให้โครงการวิจัยมีความครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น   เช่น 
โครงการวิจัยช่วยเหลือผู้กำหนดนโยบาย ผู้วางระเบียบ (regulators) และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ออกแบบโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายสมัยใหม่ สนับสนุนเรื่องไฟฟ้าแห่งศตวรรษที่ 21  โดยการสร้างและสนับสนุนเครือข่ายชุมชนผู้เชี่ยวชาญใหม่ ของคณาจารย์จากวิทยาลัยกฎหมายแห่งฮาร์วาร์ด 

โครงการวิจัยของคณาจารย์บัณฑิตวิทยาลัยการออกแบบแห่งฮาร์วาร์ด วิทยาลัยสาธารณสุข ที.เฮช. ชาน แห่งฮาร์วาร์ด และผู้บริหารหน่วยงานบริการอาคารสีเขียวแห่งฮาร์วาร์ด (Harvard Green Building Services) ใช้วิทยาเขตของฮาร์วาร์ดเป็นเหมือนห้องปฏิบัติการที่มีชีวิต  เพื่อแสวงหาวิธีการที่ดีกว่าในการวัดผลกระทบสภาพภูมิอากาศของอาคาร ข้อมูลจากพฤติกรรมผู้พำนักอาศัยเพื่อพัฒนาสิ่งปลูกสร้าง และเครื่องมือวางแผนการปฏิสังขรณ์   

ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย

มหาวิทยาลัยควรพัฒนาตนเองให้มีบทบาทรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นตามศักยภาพและความสามารถของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยอันเป็นจุดแกร่งสำคัญประการหนึ่งของมหาวิทยาลัย ในที่นี้ผมเสนอให้มหาวิทยาลัยใช้ Dr. Dan Can Do 3I Innovation Model ประกอบด้วย นวัตกรรมความคิด (ideation innovation) นวัตกรรมสิ่งปฏิบัติ (implementation innovation) และนวัตกรรมผลกระทบ (impact innovation)  เป็นกรอบในการกลั่นกรองการวิจัยทุกระดับ เพื่อช่วยให้การวิจัยไม่สะเปะสะปะ สามารถสนองตอบความต้องการที่แท้จริงของสังคม ที่สำคัญคือ เป็นการวิจัยเชิงรุกที่เน้นการผลิตนวัตกรรมองค์ความรู้และเทคโนโลยีมากขึ้น โดยการออกแบบให้มีทั้งการวิจัยที่จะสร้างให้เกิดนวัตกรรมความคิด (ideation innovation) นวัตกรรมสิ่งปฏิบัติ (implementation innovation) และนวัตกรรมผลกระทบ (impact innovation) ดังกล่าวนี้อย่างสมดุลครบถ้วน เช่น การพัฒนาชุดประเด็นการวิจัยเชิงนวัตกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับฮาร์วาร์ด อันจะไม่เป็นประโยชน์เฉพาะต่อแวดวงการศึกษาเรียนรู้และการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้งานจริงและสร้างผลกระทบที่ดีงามให้เกิดขึ้นในภาคปฏิบัติด้วยอีกทางหนึ่ง
 


1Harvard Public Affairs and Communications, President Faust’s climate initiative awards $1M in grants [Online], accessed March 7, 2016, available from http://news.harvard.edu/gazette/story/2016/03/president-fausts-climate-initiative-awards-1m-in-grants/ และ Kate Kondayen, $1M in grants to support climate research project [Online], accessed March 7, 2016, available from http://news.harvard.edu/gazette/story/2016/03/1m-in-grants-to-support-10-climate-research-projects/
2Harvard Public Affairs and Communications, President Faust’s climate initiative awards $1M in grants.
3Ibid.
4แนวคิดนวัตกรรม 3 ระดับ นำเสนออย่างเป็นทางการครั้งแรกในการปาฐกถานำเรื่อง “การศึกษาคือนวัตกรรม” ในการประชุมงานวิจัยมหาวิทยาลัย จัดโดย ฝ่ายวิชาการ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต ณ ห้อง Auditorium ชั้น 2 อาคาร 15 วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556. และนำเสนอเป็นบทความใน เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, “ฮาร์วาร์ดสร้างคนเพื่อสร้างนวัตกรรม 1,” สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ 60, 31 (19 – 25 เมษายน 2556): 37. และ เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, “ฮาร์วาร์ดสร้างคนเพื่อสร้างนวัตกรรม 2,” สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ 60, 32 (26 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2556): 37.

 

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
ปีที่ 63 ฉบับที่ 27 วันที่ ศุกร์ 18 – พฤหัสบดี 24 มีนาคม 2559

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ :  http://www.weightlossforall.com/wp-content/uploads/2010/08/cooking1.jpg

 

Leave a Reply

Your email address will not be published.