วิเคราะห์ 3 โมเดลเศรษฐกิจ : อดีต ปัจจุบัน อนาคต

จากการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของโลกสมัยใหม่ รูปแบบและแนวทางการดำเนินการทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองกับปัญหาและสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกที่แปรเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา

หากพิจารณาในแง่ผู้เล่นที่มีบทบาทนำในระบบเศรษฐกิจ นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงปัจจุบัน โลกเกิดการฟื้นคืนของโมเดลเศรษฐกิจ 2 โมเดลหลัก แต่ผมคาดการณ์และขอเสนอโมเดลใหม่ว่า อีกหนึ่งโมเดลกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

โมเดลที่ 1 ‘Big business’ (1979-2008)

เศรษฐกิจโลกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ภาครัฐกิจจำเป็นต้องแสดงบทบาทนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับความเสียหายจากสงคราม ภาคธุรกิจและประชากิจอยู่ในภาวะอ่อนแอจากผลของสงคราม

เศรษฐกิจโลกในยุคหลังสงครามโลกถูกเรียกว่า “Great Compression” เพราะเป็นช่วงที่ภาครัฐจำเป็นต้องจัดเก็บภาษีในอัตราสูง เพื่อนำรายได้มาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังตัวอย่าง อัตราภาษีเงินได้ขั้นสูงสุดของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (Federal Income Tax Rate) ช่วงทศวรรษที่ 1950 – 1970 ซึ่งอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70

แต่หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันหลายครั้งในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก และเกิดภาวะเงินเฟ้ออันเนื่องจากแรงผลักด้านต้นทุน (cost push inflation) ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่โมเดลที่ภาคธุรกิจมีบทบาทนำ

นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในยุคนี้เป็นไปในแนวทางการส่งเสริมกลไกตลาด การลดข้อจำกัดและกฎระเบียบ การลดอัตราภาษี การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ การลดบทบาทของรัฐในระบบเศรษฐกิจ และการให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค

ดังตัวอย่างนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ในทศวรรษ 1980 ที่ถูกเรียกว่าเป็น “เศรษฐศาสตร์ด้านอุปทาน” (Supply-Side Economics) มีมาตรการสำคัญ คือ การผ่อนคลายกฎระเบียบ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การลดอัตราภาษี โดยอัตราภาษีเงินได้ขั้นสูงสุดที่จัดเก็บโดยรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ลดลงจากระดับร้อยละ 70 เป็นร้อยละ 28 ในช่วงทศวรรษ 1980

โมเดลที่ 2 ‘Big government’ (2008-ปัจจุบัน)

การพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้โมเดล big business ทำให้เกิดการขยายตัวของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เศรษฐกิจโลกขยายตัวในระดับสูง เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และส่งผลให้สัดส่วนของคนยากจนทั่วโลกลดลง

อย่างไรก็ตาม โมเดล big business ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจข้ามชาติเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แม้ธุรกิจเหล่านี้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ธุรกิจขนาดใหญ่มักเข้าไปมีอิทธิพลทางการเมือง ทั้งในการกำหนดนโยบาย การออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ อาทิ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และชุมชน  การฉ้อฉลของผู้บริหารจนสร้างความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้นจำนวนมาก แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุด คือ ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากขึ้น จนยุคนี้ถูกเรียกว่า “Great Divergence”

ผลกระทบจากการดำเนินงานของภาคธุรกิจ ได้สะสมความไม่พอใจของประชาชน ซึ่งมีการประทุขึ้นของความไม่พอใจเป็นระยะ ๆ เช่น การประท้วงของกลุ่ม “Occupy Wall Street” เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ การต่อต้านการเปิดเสรีทางการค้า เป็นต้น แต่เหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ วิกฤตซับไพร์ม ในปี 2008 ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในภาคการเงินในประเทศตะวันตก ทำให้โมเดลเศรษฐกิจที่รัฐบาลมีบทบาทนำถูกรื้อฟื้นกลับมาอีกครั้ง

สาเหตุที่ภาครัฐกิจกลับมามีบทบาทนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นในภาคการเงิน ส่งผลกระทบรุนแรงไปยังภาคเศรษฐกิจจริง (real sector) และสร้างความเสียหายรุนแรงมากเกินกว่าจะปล่อยให้ล้มลงได้ (too big, too fall) ภาครัฐของสหรัฐฯ และกลุ่มยูโรโซน รวมถึงญี่ปุ่น จึงต้องเข้ามามีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (quantitative easing)

นอกจากนี้ แนวคิดเศรษฐกิจที่ภาครัฐกิจมีบทบาทนำ ยังได้รับการสนับสนุนจากความสำเร็จของประเทศจีน ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูง อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปีจนถึงปัจจุบัน แม้รัฐบาลจีนเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมและแทรกแซงระบบเศรษฐกิจของจีน ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดเสรีนิยมที่พยายามลดบทบาทของรัฐในระบบเศรษฐกิจ

โมเดล big government เน้นบทบาทของรัฐมากขึ้น ลดบทบาทของธุรกิจและกลไกตลาด โดยเฉพาะในการจัดสรรบริการสาธารณะและบริการทางสังคม ซึ่งโมเดลนี้เป็นความพยายามที่จะรับมือกับแรงกดดันทางสังคม อันเกิดจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การที่เทคโนโลยีกำลังเข้ามาแย่งงานของแรงงานจำนวนมาก รวมทั้งรับมือกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเมืองโลก โดยเฉพาะการแข่งขันและการทำสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ

โมเดลที่ 3 “Big civil society” (อนาคต)

ผมคาดการณ์ว่า ในที่สุดแล้ว โมเดล big government จะไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตได้ เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมมีความซับซ้อนมีพลวัตรมากขึ้น ทำให้ภาครัฐกิจไม่สามารถจัดบริการได้อย่างทั่วถึง และไม่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้ความเชื่อมั่นที่มีต่อภาครัฐกิจถดถอยลง

การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ จะทำให้มีผู้เล่นจำนวนมากขึ้นและมีพลังมากขึ้น จนภาครัฐกิจไม่สามารถควบคุมได้ เทคโนโลยีใหม่ยังทำให้เกิดการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ เพราะเอื้อให้เกิดธุรกรรมแบบบุคคลกับบุคคล (P2P) มากขึ้น ทำให้เกิดเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) ซึ่งทำให้ผู้เล่นรายย่อยเข้ามามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ประการสำคัญ คือ การปฏิวัติเทคโนโลยียังเอื้อให้เกิดกิจกรรมการร่วมสร้างสรรค์ (co-creation) และกิจกรรมที่ไม่แสวงหากำไรมากขึ้น

ภาคประชากิจจะทวีความเข้มแข็งมากขึ้น เทคโนโลยีใหม่จะช่วยเสริมพลังในการทำงานสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงปัญหาและความต้องการของสังคม การระดมทรัพยากร เงินทุน บุคลากร และอาสาสมัครเพื่องานสังคม การสร้างนวัตกรรมทางสังคม การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมของประชาชน

ปัจจุบัน เงาของโมเดลที่ 3 กำลังปรากฏขึ้นบางส่วน หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการของภาคประชากิจ ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การกำหนดนโยบายไปจนถึงภาคปฏิบัติ และรัฐบาลของหลายประเทศให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการประกอบการเพื่อสังคม (social enterprise) มากขึ้น

ผมจึงพยายามริเริ่มนำเสนอแนวคิด “Big Civil Society”  ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและตั้งตารอ วันที่ประเทศไทยจะเข้าสู่โมเดลเศรษฐกิจแบบที่ 3 อย่างเต็มรูปแบบ เพราะเมื่อถึงวันนั้น คำกล่าวที่ว่า “ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” จะได้กลายเป็นจริงเสียที

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.