ความสัมพันธ์กับมหาอำนาจของ ASEAN

แนวโน้มโลกในอนาคตจะเกิดเศรษฐกิจหลายขั้วอำนาจมากขึ้น เพราะขั้วมหาอำนาจเดิมกำลังถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่มีขนาดใหญ่มีศักยภาพในการขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น

ประเทศเล็กๆ ต่างพยายามสร้างความยึดโยงกับมหาอำนาจต่างๆ เพื่อความมั่นคงและอยู่รอดของตนเอง เช่น อินโดนีเซียผลักดันตนเองหวังเป็นสมาชิกของ BRICS เมียนมาร์และกัมพูชา เปิดโอกาสให้มหาอำนาจทั้งหลายเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ โดยแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ (เช่น แหล่งน้ำมันในทะเล)

หากเป็นเช่นนี้ มหาอำนาจอาจละเลยไทย โดยมุ่งเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยเหตุนี้ยุทธศาสตร์ด้านความสัมพันธ์กับมหาอำนาจต่างๆ เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์จากบทบาทและสถานะที่มีและเป็นอยู่จากการเป็นสมาชิกของอาเซียน

ผมได้นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ของไทยและอาเซียนกับมหาอำนาจ ในการบรรยายหัวข้อ “AEC และนัยต่อการพัฒนาประเทศไทย” เมื่อวันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน 2558 คือ

1.ริเริ่มความร่วมมือกับตะวันออกและเศรษฐกิจเกิดใหม่ในนาม BRICKSJAM

ไทยควรขับเคลื่อนอาเซียนให้เป็นดุมล้อของโลกตะวันออกและตะวันตก กล่าวคือ ให้ประเทศไทยเป็นดุมล้อของอาเซียน ในขณะที่อาเซียนเป็นดุมล้อของโลกเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน เกิดปรากฏการณ์ win – win – win ร่วมกันทั้งไทย อาเซียน และโลก

ทั้งนี้ BRICKSJAM เป็นการรวมตัวของประเทศและกลุ่มประเทศ ซึ่งถูกเลือกมาอย่างมีเหตุผล แต่ละประเทศมีความสำคัญในการยึดโยงกันของอำนาจทั่วโลก ประกอบไปด้วย

B คือ บราซิล (Brazil) ซึ่งเป็นแกนนำของประเทศในทวีปอเมริกาใต้
R คือ รัสเซีย (Russia) ซึ่งเป็นมหาอำนาจในกลุ่มยุโรปที่อยู่นอกนาโต้
I คือ อินเดีย (India) ซึ่งเป็นมหาอำนาจที่กำลังพุ่งทะยานขึ้นในเอเชีย
C คือ จีน (China) เป็นมหาอำนาจที่กำลังพุ่งทะยานขึ้นอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน
K คือ เกาหลีใต้ (Korea) ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก
S คือ อาฟริกาใต้ (South Africa) ซึ่งเป็นประเทศแกนนำในทวีปแอฟริกา
J คือ ญี่ปุ่น (Japan) เป็นมหาอำนาจ ระบบเศรษฐกิจอันดับสามของโลก
A คือ อาเซียน (ASEAN) มีประชากรถึง 600 ล้านคนและได้รวมกันเป็น AEC
M คือ ประเทศในตะวันออกกลาง (Middle East) เป็นกลุ่มเศรษฐกิจสำคัญที่มีทรัพยากรที่โลกต้องการ คือ น้ำมัน

สาเหตุของการรวมเป็น BRICKJAM เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและอำนาจต่อรองของอาเซียน ลดการพึ่งพากลุ่มมหาอำนาจเดิมที่กำลังถดถอยลง รวมถึงการสร้างสมดุลใหม่ โดยสร้างขั้วอำนาจใหม่ที่อาจฉุดโลกให้พ้นจากความถดถอยได้

แนวทางการสร้าง BRICKSJAM คือ ผลักดันให้อาเซียนเป็นแกนหลักในการรวมตัว เนื่องจากอาเซียนมีโครงสร้างเชิงสถาบันที่รองรับ มีความหลากหลายสามารถเชื่อมโยงได้กับทุกกลุ่ม ทั้งนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนควรมองผลประโยชน์ของอาเซียนเป็นหลัก โดยทั้ง 10 ประเทศสมาชิกต้องผนึกกำลังกันอย่างเป็นเอกภาพ เร่งพัฒนาทุกประเทศในทุกด้านให้ดีขึ้นโดยเร็ว เพราะหากอาเซียนมีความเข้มแข็งจะกลายเป็นเกราะกำบัง ช่วยให้เกิดอำนาจต่อรองมากขึ้น

และด้วยความไม่แน่นอนทางการเมืองและการแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและจีน ไทยและอาเซียนจึงควรวางตัวและมีการแสดงออกอย่างเหมาะสมกับทั้งสองมหาอำนาจ โดยการยังไม่เลือกข้างหรือยึดฝ่ายหนึ่งฝ่ายหนึ่งมากกว่า เพื่อไม่ให้มีประเทศใดเข้ามาแทรกแซงความสัมพันธ์ในกลุ่มประเทศอาเซียนได้

2.ริเริ่มความร่วมมือกับตะวันตกในนาม ASEMU (ASEAN + EU + US)

ไทยควรเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนอาเซียนให้เป็นแกนหลักในการสร้างให้เกิดความร่วมมือ

ผมปรารถนาจะให้ประเทศไทยด้านหนึ่งหันมาเล่นกับ BRICKSJAM ที่เน้นฝั่งตะวันออก และอีกด้านหนึ่งเล่นกับ ASEMU ที่เน้นฝั่งตะวันตก เพราะจะทำให้ประเทศไทยที่เป็นประเทศเล็กๆ แต่สามารถก้าวไปสู่การเป็นฟันเฟืองเพื่อขับเคลื่อนโลกได้

การร่วมมือในนาม ASEMU เป็นไปเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับโลกตะวันออก โดยเฉพาะจีน และกระชับความสัมพันธ์และสร้างความมั่นใจกับมหาอำนาจเศรษฐกิจเดิม ว่ายังเป็นพันธมิตรกันอยู่ และสร้างจุดยืนของอาเซียนในความเป็นกลาง รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจระหว่างโลกตะวันตกมายังโลกตะวันออก โดยให้อาเซียนเปรียบเสมือนประตูสู่ตลาดใหม่แห่งเอเชีย

3.ริเริ่มความร่วมมือในนาม RICAM

ไทยควรริเริ่มผลักดันให้เกิดการรวมตัวเป็น RICAM อันเป็นส่วนย่อยของ BRICKSJAM ที่เน้นสร้างสัมพันธ์กับรัสเซียและจีนเป็นหลัก

RICAM ประกอบไปด้วย รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) จีน (China) อาเซียน (ASEAN) และ ตะวันออกกลาง (Middle East) เนื่องจากรัสเซียและจีนถูกผลักให้เข้าใกล้กันโดยคู่แข่งซึ่งเป็นมหาอำนาจโลกปัจจุบันอย่างอเมริกา ประกอบกับรัสเซียกำลังประสบวิกฤติทางเศรษฐกิจ ในขณะที่อินเดียที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด รวมทั้งเป็นมิตรกับรัสเซียมาตั้งแต่อดีต โอกาสที่อินเดียจะเข้าร่วมกลุ่มจึงมีอยู่สูง

สำหรับกลุ่มตะวันออกกลางที่สามารถแบ่งได้หลายฝ่าย กลุ่มที่สู้รบกันอยู่ปัจจุบัน คือ ฝ่ายชีอะห์กับสุหนี่ กลุ่มที่ฝักใฝ่ชีอะห์ เช่น ซีเรีย เยเมน อิรัก (ฝั่งชีอะห์) อิหร่าน ปัจจุบันรัสเซียพยายามต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดจากสหรัฐและยุโรป โดยรัสเซียเป็นแกนนำในการไปทิ้งระเบิดที่ซีเรีย ด้วยเหตุนี้รัสเซียจึงมีแรงจูงในการเข้าร่วมกับ RICAM เพื่อผนึกกำลังกับประเทศอื่น

การที่ไทยที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียน และการเข้ามาสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่ลึกซึ้งขึ้นกับอาเซียน จะช่วยให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ความสงบสุขทั่วโลก และความปลอดภัยของภูมิภาค

ไทยจะอยู่รอดได้ก็ต่อเมื่อมีการปรับโครงสร้างและต้องเล่นเกมการเมืองระหว่างประเทศอย่างมียุทธศาสตร์ ไทยจะต้องรอดในยุคนี้ ไม่เช่นนั้นลูกหลานจะติดกับดักไปอีกนาน

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com,http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.