ความย้อนแย้งของการพัฒนาชนบท

ในวันที่ 6-8 พฤศจิกายนนี้ สถาบันการสร้างชาติ (NBI) และสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ซึ่งผมเป็นประธาน ได้ร่วมกับ Women’s Institute of Management ของมาเลเซีย จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติว่าด้วยการสร้างชาติ ครั้งที่ 2 (ICNB 2018) ในหัวข้อเรื่อง “Innovative Solutions for Rural Development to Move towards a Developed Country” ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด

การพัฒนาชนบท หมายถึง การปรับปรุงหรือยกระดับการพัฒนาของพื้นที่ชนบทในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การบริหารจัดการ วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อม โดยมีเป้าหมายสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากรให้มีความเป็นอยู่ที่ดี (well-being) รวมถึงการมีส่วนในการพัฒนาประเทศในภาพรวมด้วย
เมื่อนำการพัฒนาชนบทมาร่วมพิจารณากับการมุ่งไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว อาจทำให้เกิดประเด็นคำถามว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นการพัฒนาชนบทหรือเป็นการพัฒนาความเป็นเมือง การพัฒนาชนบทเพื่อนำไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว จะเป็นการทำให้ชนบทหมดไปและกลายเป็นเมืองมากขึ้นหรือไม่

เหตุที่ตั้งคำถามเช่นนี้ เพราะหากเราพิจารณาข้อมูลของประเทศทั่วโลก จะพบว่า กลุ่มประเทศรายได้สูงล้วนมีอัตราความเป็นเมือง (urbanization rate) ในระดับสูงทั้งสิ้น โดยมีประชากรที่อาศัยในเมืองมากกว่าร้อยละ 80 ขณะที่ประเทศรายได้ปานกลางและประเทศรายได้ต่ำ มีอัตราความเป็นเมืองที่ร้อยละ 50 และ 30 ตามลำดับ
ในความเห็นของผม การพัฒนาชนบทไม่ควรถูกจำกัดว่า ต้องไม่ใช่การพัฒนาชนบทให้เป็นเมือง แต่ผลสุดท้ายของการพัฒนาชนบท ระดับการพัฒนาของพื้นที่จะต้องถูกยกระดับขึ้น และประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ว่าพื้นที่ชนบทจะยังคงเป็นชนบทอยู่หรือไม่ก็ตาม

ผมเห็นว่า เส้นทางการพัฒนาชนบทอาจมีได้ 3 เส้นทางหลัก คือ
เส้นทางที่หนึ่ง การพัฒนาชนบทให้เป็นชนบทที่พัฒนาแล้ว ซึ่งจะช่วยยกระดับการพัฒนาและรายได้โดยเฉลี่ยของทั้งประเทศ เพราะชนบทเป็นพื้นที่ที่ประชากรมีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ มีคนยากจนจำนวนมาก ทำให้มีความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบทค่อนข้างสูง
เส้นทางที่สอง การพัฒนาชนบทให้เป็นเมืองใหม่ เพื่อเพิ่มศูนย์การเจริญเติบโต (growth pole) ของประเทศ และลดพื้นที่ที่ด้อยพัฒนาลง
เส้นทางที่สาม การเชื่อมโยงหรือหลอมรวมชนบทเข้ากับเมืองที่มีอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มศักยภาพของเมืองให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น มีความประหยัดจากขนาด (economy of scale) และความประหยัดจากขอบเขต (economy of scope) มากขึ้น

อย่างไรก็ดี การพัฒนาชนบทไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก เพราะตกอยู่ภายใต้ภาวะที่เรียกว่า “ความย้อนแย้งของการพัฒนาชนบท” (rural development dilemma) เนื่องจากการพัฒนาชนบทมีหลายเป้าหมายที่ต้องการไปให้ถึง และชนบทยังมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดหลายประการ ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาได้อย่างครบถ้วนในเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้การพัฒนาชนบทต้องเผชิญความย้อนแย้งหลายประการ อาทิ
1. การขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ ความเท่าเทียม
การพัฒนาชนบทในอดีตเป็นผลพลอยได้จากการพัฒนาประเทศโดยรวม ซึ่งให้ความสำคัญกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม ผ่านการสะสมทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเชื่อว่าจะทำให้เกิดการกระจายผลประโยชน์ลงสู่ชนบทหรือรากหญ้า (trickle-down effect)

ผลการพัฒนาดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจขยายตัวและจำนวนคนยากจนลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากชนบทไปสู่เมือง แต่กลับทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบทที่กว้างขึ้น เนื่องจากการกระจายผลประโยชน์สู่ชนบทไม่เกิดขึ้นจริง แต่กระจุกตัวอยู่ในเมือง รวมทั้งสร้างปัญหาความอ่อนแอของครอบครัวและชุมชนในชนบท และปัญหาสิ่งแวดล้อม

ในทางตรงข้าม แนวทางการพัฒนาที่เน้นสร้างความเท่าเทียมและเป้าหมายอื่นทางสังคม อาจทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่ำลง เนื่องจากชนบทขาดความประหยัดจากขนาด และโดยทั่วไปแรงงานและภาคการผลิตในชนบทมีผลิตภาพต่ำกว่าในเมือง การกระจายทรัพยากรไปยังชนบทจึงมีค่าเสียโอกาสสูงกว่าในเมือง ดังนั้นการลงทุนในชนบทจึงมักให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจต่ำกว่าการลงทุนในเมือง

2. การพัฒนาระดับมหภาค หรือ การพัฒนาระดับจุลภาค
โครงการพัฒนาชนบทที่ประสบความสำเร็จในบางท้องถิ่น หากนำแนวทางนั้นมาใช้พัฒนาชนบททั่วประเทศ อาจทำให้ทุกท้องถิ่นแย่ลงและล้มเหลวในภาพรวม นอกจากนี้บางแนวทางของการพัฒนาชนบทอาจเป็นเกมที่ผลรวมเป็นศูนย์ (zero-sum game) เพราะความสำเร็จของบางท้องถิ่นอาจเกิดจากการดึงแรงงานและทรัพยากร หรือการแย่งตลาดมาจากท้องถิ่นอื่น

ดังตัวอย่าง การเพิ่มผลิตภาพหรือผลผลิตต่อไร่ของภาคเกษตรในบางท้องถิ่น จะทำให้เกษตรกรในท้องถิ่นนั้นมีรายได้สูงขึ้น แต่หากมีการเพิ่มผลิตภาพภาคเกษตรทั่วประเทศ อาจทำให้สินค้าเกษตรล้นตลาด ทำให้ราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำลง อาจส่งผลทำให้เกษตรกรทั้งประเทศมีรายได้ลดลง

ในทำนองเดียวกัน แนวทางการพัฒนาที่เป็นผลดีในระดับมหภาค อาจไม่ส่งผลดีในระดับจุลภาค เช่น การส่งเสริมการออมจะทำให้ประเทศสามารถนำไปลงทุนมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว แต่ชนบทอาจไม่ได้รับประโยชน์จากการนำเงินออมไปลงทุน เพราะธนาคารอาจระดมเงินออมของคนชนบทไปปล่อยกู้ในเมือง ขณะที่ชนบทกลับขาดแคลนเงินลงทุน

3. การพัฒนาเชิงพาณิชย์ หรือ การอนุรักษ์
การพัฒนาชนบทมักต้องเผชิญความย้อนแย้งระหว่างการพัฒนาเชิงพาณิชย์และการอนุรักษ์ เนื่องจากเศรษฐกิจและสังคมในชนบทต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งไม่ได้มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ แต่เป็นทรัพยากรของส่วนรวม และเป็นปัจจัยการผลิตที่ต้องใช้ร่วมกัน

ความย้อนแย้งดังกล่าวเป็นผลจากความแตกต่างทางความคิด โดยเฉพาะระหว่างคนในเมืองและคนในชนบท โดยคนชนบทต้องพึ่งพาทรัพยากรมักมีแนวคิดในการนำทรัพยากรมาใช้ ขณะที่คนในเมืองไม่ได้พึ่งพาทรัพยากรในการดำรงชีพมักมีแนวคิดในการอนุรักษ์ การพัฒนาชนบทจึงมักต้องเผชิญความย้อนแย้งทั้งในเชิงแนวคิด และอำนาจในการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น

การพัฒนาชนบทอาจเกิดความย้อนแย้งในตัวเอง เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจชนบทโดยการทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมกลายเป็นสินค้า (commoditization) อาจทำให้ทรัพยากรนั้นเสื่อมโทรมลง หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ซึ่งอาจกลายเป็นการฆ่าห่านทองคำของชนบทด้วยการพัฒนานั้นเสียเอง
ด้วยความย้อนแย้งในการพัฒนาชนบท เราจึงต้องการทางออกเชิงนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ในการพัฒนา เพื่อแหวกวงล้อมของข้อจำกัด และเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ของการพัฒนา และนำประเทศไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

 

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.