การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ Trumponomics

“Trumponomics” หรือแนวนโยบายเศรษฐกิจ ภายใต้การบริหารประเทศ ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์
 เป็นคำที่หลายท่านคงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว ซึ่งได้สร้างความกังวลใจอย่างมากให้กับหลายฝ่าย ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทย

Trumponomics สะท้อนให้เห็นถึงแนวนโยบายกีดกันทางการค้า ไม่ว่าจะเป็น นโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ การถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) การปรับปรุงข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) และนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งนโยบายลดภาษีเงินได้และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

เมื่อประกอบกับการสังเกตเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ผมจึงได้วิเคราะห์ต่อไปถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญบางประการที่กำลังจะเกิดขึ้น และจะกลายเป็นกระแสของโลกและของหลายประเทศในอนาคตอันใกล้ ผมมีข้อสังเกตว่า ลัทธิชาตินิยม (Nationalism) และลัทธิปกป้อง (Protectionism) กำลังเกิดขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว

ทว่ายังคงมีการเชื่อมโยงและความร่วมมือข้ามพรมแดนอยู่ ตามการเติบโตขึ้นของโลกาภิวัตน์ (Globalization) ภูมิภาคภิวัตน์ (Regionalization) และสภาวะข้ามชาติ (Transnationalization) แต่จะเป็นในลักษณะทวิภาคี (Bilateral) และมุ่งเน้นเพื่อสร้างการถ่วงดุลทางอำนาจมากขึ้น

จากแนวโน้มดังกล่าว แม้ประเทศไทยไม่ได้มีอิทธิพลในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก แต่ประเทศไทยจะได้รับผลจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้น ผมจึงมีหลักและข้อเสนอแนะสำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลง

หลักในการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงจาก Trumponomics คือ การปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของประเทศไทยภายใต้บริบทชนะ – ชนะ – ชนะ – ชนะ (ส่วนตัว –ส่วนร่วม – ส่วนเรา – ส่วนรวม)

กล่าวคือ การรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศในทุกมิติ ภายใต้บริบทการชนะทั้งผลประโยชน์ส่วนตัว อันหมายถึง ประเทศไทยฝ่ายเดียว ส่วนรวมคือประโยชน์ประเทศไทยที่ซ้อนทับกับประเทศอื่น ผลประโยชน์ส่วนเรา หมายถึง ภูมิภาค ซึ่งในที่นี้คือ ภูมิภาคอาเซียน และผลประโยชน์ส่วนรวม ที่หมายถึง โลกนี้ อันได้แก่ ประเทศต่างๆ ในโลก

ด้วยการวางระยะพอเหมาะกับมหาอำนาจโลกและมหาอำนาจภูมิภาค และหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยใช้วิธีการทางการทูตและการเมืองอย่างสันติวิธีแทนการก่อความรุนแรง ที่อาจนำไปสู่สงคราม เช่น การเจรจา การประนีประนอม การสืบสวนหาข้อเท็จจริง การใช้กระบวนการตัดสินข้อพิพาทที่เป็นทางการ เป็นต้น

ประเทศไทยควรมีบทบาทในการริเริ่มและพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเล่นบทบาทเป็นดุมล้อที่คอยขับเคลื่อนกลุ่มประเทศอาเซียน และทำให้อาเซียนเป็นดุมล้อของโลก เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน เกิดปรากฏการณ์ win – win – win ร่วมกันทั้งไทย อาเซียน และโลก

แนวโน้มการเจรจาการค้าแบบทวิภาคีที่จะมีมากขึ้น ทำให้การเจรจากับมหาอำนาจของไทยซึ่งเป็นประเทศเล็กเสียเปรียบในการเจรจา ไทยจึงจำเป็นต้องรวมกับอาเซียนเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการเจรจา

นอกจากนี้ การเจรจาและการสร้างความร่วมมือกับประเทศหรือกลุ่มประเทศต่างๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจเกิดใหม่ นอกจากจะเป็นไปเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับชาติมหาอำนาจแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งในวิธีการแสวงหาตลาดใหม่ๆ ทดแทนตลาดในประเทศพัฒนาแล้วที่มีแนวโน้มกีดดันทางการค้ามากขึ้น

ผมมีข้อเสนอในการริเริ่มและพัฒนาการเป็นดุมล้อในความร่วมมือต่างๆ ได้แก่

1) TCLMV เป็นการสร้าง soft power ของไทย ในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง เพื่อให้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ขัดขวาง คัดค้าน แต่สนับสนุนให้ไทยเป็นดุมล้อด้วยความเต็มใจ เช่น การรับซื้อสินค้า การเข้าไปลงทุน การให้เงินกู้ เงินให้เปล่า การช่วยเหลือทางเทคนิค การให้ทุนการศึกษา เป็นต้น ซึ่งเห็นได้จากประเทศจีนที่ใช้นโยบายลักษณะนี้อย่างสัมฤทธิ์ผลกับประเทศในแอฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเชียกลาง

2) สมาชิก ASEAN ในปัจจุบันและอนาคต กล่าวคือ ในอนาคต จะมีประเทศอื่นๆ อีก3-4ประเทศที่น่าพยายามขอเข้าร่วมกับกลุ่ม ASEAN ไทยจะยังคงต้องรักษาบทบาทการเป็นดุมล้อทั้งกลุ่มประเทศสมาชิกเดิมและใหม่ให้ได้ เช่น ไทยต้องศึกษาว่าสามารถร่วมมือหรือมีอิทธิพลเหนือประเทศติมอร์ เลสเต ในด้านใดบ้าง เป็นต้น

3) CIA (China + India + ASEAN) เมื่อ CIA รวมตัวกัน จะเกิดเป็นลุ่มที่มีประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลกทั้งหมด คือ ประมาณ 3.1 พันล้านคน จากทั้งหมด 7.3 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 42 ของประชากรโลกทั้งหมด ความร่วมมือนี้จะก่อให้เกิดอำนาจต่อรองกับประเทศตะวันตกมากขึ้น

4) ASEAN ++ เช่น ASEAN +3, ASEAN +6, ASEAN +8

5) RICAM (Russia + India + China + ASEAN + Middle East) ซึ่งเป็นชื่อย่อที่ผมเสนอตั้งกลุ่มนี้ขึ้นเพื่อ เน้นสร้างสัมพันธ์กับ รัสเซีย – จีน เป็นหลัก หากอาเซียนสร้างความสัมพันธ์อันดี ไม่มีความขัดแย้งกับประเทศเหล่านี้ จะสามารถคานอำนาจและอยู่ร่วมได้กับทั้งมหาอำนาจเดิมและมหาอำนาจใหม่

6) BRICKSJAM (BRICS+South Korea+ASEAN+Japan+Middle East) เพื่อป้องกันไม่ให้อินโดนีเซียมีอำนาจต่อรองสูงเกินไปหากสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ BRICS เพียงประเทศเดียว อีกทั้งเป็นการเพิ่มความน่าสนใจและอำนาจต่อรองของอาเซียน ลดการพึ่งพากลุ่มมหาอำนาจเดิมที่กำลังก้าวไปสู่จุดถดถอย รวมถึงสร้างสมดุลใหม่ โดยสร้างขั้วอำนาจใหม่ที่อาจฉุดโลกให้พ้นจากความถดถอยได้

7) ASEUM (ASEM + USA) เป็นการสร้างกลุ่มใหม่ที่ผมได้เสนอมานานปีเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ ขยายความร่วมมือ และเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรป และเอเชีย

การเตรียมความพร้อมที่ดี จะต้องรู้จักสถานะ ตำแหน่งและบทบาทของประเทศตนเองอย่างถ่องแท้ ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ที่ตั้งอยู่บนจุดสำคัญทางภูมิศาสตร์ของภูมิภาค เราควรใช้จุดแข็งนี้ในการริเริ่มและพัฒนาตนเองให้เป็นดุมล้อในความร่วมมือต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผนึกกำลังกับประเทศสมาชิกอาเซียน สร้างความแข็งแกร่งให้เกิดขึ้น ผ่านการสร้างดุลทางอำนาจ สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศมหาอำนาจต่างๆ เพื่อมีอำนาจต่อรองในเวทีโลก รวมทั้งสามารถดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เอื้อผลประโยชน์ต่อไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนได้มากที่สุด

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน


ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://litci.org/pt/wp-content/uploads/2016/11/trumponomics-770×470.jpg

Leave a Reply

Your email address will not be published.