การสร้างคุณภาพชีวิตเมืองเพื่อการสร้างชาติ ด้วยโมเดลเมืองน่าอยู่ 12 มิติ: Dr.Dan Can Do’s Livable City Model

“ในฐานะผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ปี 2551 และสั่งสมแนวคิดยุทธ์ศาสตร์การพัฒนาเมืองมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ผู้เขียนขอเสนอแนวคิด ในการร่วมสร้างคุณภาพชีวิต การสร้างเมือง และสร้างขาติ ด้วยโมเดลเมืองน่าอยู่ 12 มิติ: Dr.Dan Can Do’s Livable City Model
.

กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญ ทั้งด้านอุตสาหกรรม ธุรกิจ การศึกษา แหล่งงาน และบริการต่างๆ แต่ความเจริญไม่ได้มาพร้อมกับคุณภาพชีวิตของคนในเมืองที่ดีขึ้น แต่มาพร้อมกับความเสื่อมโทรมหลายๆ ด้าน
.
เนื่องจากความเจริญที่กระจุกตัวอยู่ในเมือง กระตุ้นให้เกิดภาวะล้นทะลักของประชาชนในเมือง เริ่มต้นตั้งแต่การที่ต้องผจญมลพิษทางอากาศ จากการจราจรที่แออัดคับคั่ง ฝุ่นละอองจากการก่อสร้างอาคารสูง อุบัติเหตุบนท้องถนน ปัญหาชุมชนแออัด คนเร่ร่อนจรจัด การก่ออาชญากรรม
.
ปัญหาน้ำเน่าเสีย ขยะมูลฝอย ปัญหาสุขภาพจิต ค่าครองชีพที่สูงพร้อมทั้งความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัญหาการคอร์รัปชันของผู้ถืออำนาจรัฐ ปัญหาการแพร่ระบาด COVID-19 ที่กระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจร้านอาหาร ทำให้เกิดอัตราการว่างงานที่สูง และยังส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา
.
ที่ผ่านมา ทางหน่วยงานกรุงเทพมหานครได้พยายามอย่างมากในการรื้อฟื้นกรุงเทพฯ ให้กลายเป็น “เมืองน่าอยู่” สมัยผมหาเสียงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ปี 2551 ผมใช้สโลแกน “สร้างกรุงเทพฯ ด้วยปัญญา” เพื่อจะสื่อสาระสำคัญว่า การสร้างเมืองให้งอกงามได้อย่างยั่งยืนนั้น เพียงการได้อำนาจการเมืองสั่งมานั้นไม่พอ แต่ต้อง “ใช้ปัญญานำ”
.
การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเพื่อให้คนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ เกิดความผาสุก จวบจนชั่วลูกชั่วหลาน และการสร้างคุณภาพชีวิตเมืองเพื่อการสร้างชาติ ให้ครอบคลุมมิติต่างๆ ในการสร้างคุณภาพชีวิตคน
.
ผมจึงเสนอแนวคิด โมเดลเมืองน่าอยู่ 12 มิติ: Dr.Dan Can Do’s Livable City Model ซึ่งประกอบด้วยมิติต่างๆ ดังนี้
.
1) มิติเมืองสะดวก
กรุงเทพฯ ควรเป็นเมืองที่การเดินทางสะดวก ใช้เวลาในการเดินทางน้อย สามารถกำหนดเวลาที่ใช้ในการเดินทางได้แน่นอน และมีค่าใช้จ่ายต่ำในการเดินทาง สามารถรองรับสำหรับคนทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ ฯลฯ
.
อาทิ มีทางเดินเท้าสำหรับผู้พิการ สร้างเส้นทางเดินลอยฟ้า ทางเลื่อน และทางเดินใต้ดิน นอกจากนั้นใจกลางเมืองควรสร้างรถไฟฟ้าครอบคลุมพื้นที่ทั่วเมือง รวมถึงการมีบริการรถสาธารณะเข้าถึงชุมชนต่างๆ
.
มีการจัดทำบัตรเดียวเดินทางได้ทั้งระบบ เพื่อเพิ่มความสะดวก ความสบายให้กับประชาชน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสมเหตุสมผล และจัดรถเมล์ศูนย์บาท (Zero-Fare Bus) เพื่อชาวชุมชน เป็นต้น
.
2) มิติเมืองสงบสุข
คนในเมืองปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินภัยอาชญากรรม กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งความเจริญ จึงเกิดเหตุการณ์ อาทิ ไฟไหม้ สารเคมี/แก๊สระเบิด ป้ายโฆษณาถล่ม ภัยจากยานพาหนะบนท้องถนน การเกิดอุบัติเหตุ การวิ่งราวทรัพย์ ฯลฯ
.
ผมจึงเสนอแนวทางโดยการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังเมือง 24 ชั่วโมง ศูนย์บัญชาการเดียวที่เฝ้าระวังภัยทุกประเภทในเมือง โดยเฉพาะความปลอดภัยของสตรี และขอการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครในชุมชน จัดเตรียมอุปกรณ์พร้อมใช้งานในทุกชุมชน
.
3) มิติเมืองสะอาด
กรุงเทพฯ ควรเป็นเมืองที่สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ถูกสุขลักษณะ อากาศไม่เป็นมลพิษ แม่น้ำคูคลองใสสะอาด ถนนหนทางสาธารณะ ตรอกซอกซอย บ้านเรือนชุมชนต่างๆ ปราศจากขยะและสิ่งปฏิกูล มีระบบจัดการสิ่งแวดล้อมมีประสิทธิสภาพ (ขยะ, น้ำเสีย, ฝุ่น, มลพิษ ฯลฯ) แนวทางใช้ระบบการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ครบวงจร
.
อาทิ ขยะต้องไม่ตกค้าง มีรถเก็บขยะด่วน ทั่วถึงทุกที่ เข้าถึงทุกซอย เรียกได้ 24 ชม. ชุมชนปลอดภัยจากขยะพิษและขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยการสร้างเตาเผาขยะได้มาตรฐาน เพิ่มปริมาณโรงบำบัดน้ำเสีย ท่อไม่อุดตัน มั่นใจน้ำไม่ท่วมขัง และอากาศสะอาดทุกพื้นที่ เช่น การสร้างเมรุมาตรฐาน ปลอดภัย ไม่ก่อมลพิษ 1 เขต 1 เตาเผามาตรฐาน ที่สามารถกำจัดสารพิษได้อย่างสมบูรณ์
.
4) มิติเมืองสุขสบาย
กรุงเทพฯ ควรเป็นเมืองที่ประชาชนมีงานทำ มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต มีแหล่งงานเพียงพอ ประชาชนไม่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ สามารถพึ่งตนเองในปัจจัยอยู่รอดได้ โดยมีการส่งเสริมการหารายได้ การสร้างงานของประชาชนผ่านการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนให้ทุกคนมีงานทำ
.
ตั้ง ธนาคารอาชีพ ยาแก้จน ช่วยฝึกงาน หางาน หาทุน สร้างอาชีพที่มั่นคง จัดระเบียบร้านค้าริมทาง ให้มีที่ค้าขายได้ทุกวัน เพื่อไม่ขาดรายได้ และสร้าง สตรีท เฟอร์นิเจอร์ ออกแบบทางเท้า แผงลอย รถเข็นให้สวย สะอาด เป็นระเบียบน่าเดิน น่าซื้อ สร้างจุดขายดึงนักท่องเที่ยว ดึงรายได้เข้าชุมชน
.
5) มิติเมืองสุขอนามัย
กรุงเทพฯ ควรตั้งเป้าให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลโรคร้ายโดยมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพ การป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรค บริการสาธารณสุขทั่วถึง มีคุณภาพสามารถรักษาสุขอนามัยของที่พักอาศัย สถานที่ทำงาน สถานที่สาธารณะ อาทิ ออกแบบอาคารที่ไร้สารพิษ ปลอดโรค สื่อสารวัฒนธรรมใหม่
.
เช่น ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดไร้สารพิษ พัฒนามาตรฐานการผลิตอาหารสะอาดพัฒนามาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร เช่น โรงแรม ร้านอาหาร หาบเร่พัฒนามาตรฐานอาหารปลอดภัย (Food Safety) ติดป้ายตัวชี้วัดอาหารปลอดภัย ตรวจสอบได้
.
อาหารราคาถูกคุ้มค่า เข้าถึงง่าย โดยรัฐอุดหนุนการผลิต หรือลดภาษีอาหารเพื่อสุขสภาพ (Food Wellness) มีการยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข สู่ความทันสมัย พร้อมหน่วยบริการเคลื่อนที่สู่ชุมชน
.
6) มิติเมืองสำราญ
ผมอยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่คนทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกเพศ ทุกอาชีพมีที่เหมาะสมได้พักผ่อนหย่อนใจ ได้ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ และได้ปลดปล่อยศักยภาพที่จะส่งผลให้ประชาชนมีความสุข เช่น มีการเปิดโซนกีฬา ดนตรี ศิลปะ และกิจกรรมเพื่อวัยรุ่น
.
ยินดีสนับสนุนงบประมาณประชาชนที่รวมกลุ่มทำกิจกรรมที่ดี สร้างสรรค์ มีประโยชน์ ส่งเสริมเยาวชนใช้เวลาหลังเลิกเรียน วันหยุดเสาร์อาทิตย์ และในช่วงปิดเทอม พัฒนาศักยภาพ
.
และเพิ่มพื้นที่ความสุขแบบครบวงจร โดยการสร้างศูนย์นันทนาการครบวงจรมีกิจกรรมต่างๆ รองรับ ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วเมือง ปรับปรุงพื้นที่เป็นสวนหย่อมและมุมผู้สูงอายุ ปรับที่รกร้างใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสมของพื้นที่ อาทิ ปรับปรุงเป็นลานกีฬา ลานกิจกรรม หรือสนามเด็กเล่นของชุมชน เป็นต้น
.
7) มิติเมืองสวยงาม
กรุงเทพฯ ควรเป็นเมืองที่คนที่อยู่อาศัยรู้สึกได้ถึงความสวยงามรอบตัว อาทิ ถนนสวยงามด้วยการปลูกต้นไม้ มีภูมิทัศน์และทัศนียภาพที่สวยงาม เมืองมีความสวยงามทั้งทางด้านวัฒนธรรมและทางด้านทัศนวิสัย
.
ผู้คนสามารถสัมผัสและชื่นชมความงดงามของสภาพแวดล้อมในชุมชน สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวได้
.
ซึ่งผมเสนอให้เปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นสวนสวย สร้างเมืองสวยด้วยไม้งาม เกาะกลางถนนมีดอกไม้งาม ทางเท้าสวย แผงลอยสะอาด สายไฟลงดิน เพิ่มพื้นที่สวนป่ากลางเมือง เพิ่มเครื่องฟอกอากาศธรรมชาติให้คนเมือง สร้างสวนหย่อมลอยฟ้าบนอาคาร สร้างสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน เป็นต้น
.
8) มิติเมืองสมองสร้างสรรค์
คนกรุงเทพฯ ควรเข้าถึงการเรียนรู้สะดวกทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย คนกรุงเทพฯ ควรมีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพในทุกช่วงชั้น มีโรงเรียนที่มีคุณภาพ มีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา และตลอดชีวิต ซึ่งอาจทำได้โดยการพัฒนาโรงเรียนสู่โรงเรียนชั้นนำมาตราฐานโรงเรียนสาธิตทุกโรงเรียนและเป็นโรงเรียน 3 ภาษา (ไทย อังกฤษ จีน)
.
รวมทั้งสร้างสวนสมองคนเมือง เป็นแหล่งเรียนรู้คนเมือง และสร้างแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยมีพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะ เช่น ห้องสมุด, พิพิธภัณฑ์, สภากาแฟ ฯลฯ มีห้องสมุดประชาชนโดยจัดให้มีหนังสือที่ตรงความสนใจตอบโจทย์ กระจายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วเมือง และ “สร้างปัญญา เพื่อพัฒนาเมือง” โดยการสร้างมหาวิทยาลัยสร้างชาติเพื่อสร้างคนช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาเมืองอย่างบูรณาการ
.
9) มิติเมืองสีขาว
ผมอยากให้กรุงเทพฯ มีการบริหารจัดการที่ดี มีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ คนกรุงเทพฯ มีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาบริหารจัดการทรัพยากร และร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ โดยยึดหลัก “ธรรมาภิบาล” มีการวางระบบที่ดีที่ทำให้คนชั่วทำดีได้โดยไม่รู้ตัว
.
ทุกงานมีตัวชี้วัดกำกับ มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานภาครัฐในชุมชน เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมช่วยพัฒนา ด้วยการเป็น “ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ” ในด้านต่างๆ รวมถึงจัดตั้ง กองทุนอาสาสมัครเวลาเพื่อเมืองน่าอยู่ เปิดโอกาสให้คนร่วมบริจาคเวลาว่างทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อเมือง
.
10) มิติเมืองสืบสานวัฒนธรรม
ผมเสนอว่า คนกรุงเทพฯ ควรมีส่วนร่วมอนุรักษ์สืบสานและต่อยอดวัฒนธรรมที่ดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่อย่างยั่งยืน มีการบันทึก สืบทอด อนุรักษ์ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิต ศิลปกรรม ฟื้นฟูภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่เป็นเอกลักษณ์ มีการรณรงค์ส่งเสริมให้คนในชุมชนรู้ประวัติศาสตร์
.
อาทิ จัดงานรำลึกประวัติศาสตร์มีการศึกษาหรือบันทึกประวัติศาสตร์ของชุมชน โบราณสถานและโบราณวัตถุได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟู มีการจัดเทศกาล วัฒนธรรม หรือ ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน มีสินค้าและบริการที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนจำหน่าย
.
มีการรื้อฟื้นชุมชนริมน้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์เพิ่มรายได้ให้ชุมชน รวมทั้งมีการตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของเมือง สืบค้นและคัดสรร วัฒนธรรม เพื่อสืบสานความงดงามและรุ่งเรือง เป็นต้น
.
11) มิติสุขสัมพันธ์
ผมอยากเห็นคนกรุงเทพฯ มีความเป็นพี่เป็นน้อง มีความผูกพันใกล้ชิด มีสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมีน้ำใจ ช่วยเหลือกันโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เกิดภราดรภาพที่มีพันธผูกพันทางใจ มีส่วนเข้าร่วมและสร้างกิจกรรมเพื่อสาธารณะหรือส่วนกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้คนได้รู้จักกันอย่างลึกซึ้ง
.
รวมทั้งมีการจัดตั้งโรงเรียนครอบครัว ให้สมาชิกในครอบครัว ได้เรียนรู้ถึงครอบครัวที่มีความรักความอบอุ่น และส่งเสริมการสร้างชุมชนที่ถักทอกันขึ้นด้วยความรักไม่ใช่ด้วยผลประโยชน์ต่างตอบแทน ที่ทุกคนสัมพันธ์กันด้วยความรักบนฐานความสัมพันธ์ที่อารยะ
.
12) มิติสุขจิต
กรุงเทพฯ ควรเป็นเมืองที่ผู้คนดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมายและให้ความสำคัญกับการทำเพื่อสังคมและส่วนรวม รวมตัวกันเป็นชุมชนที่คนมีจิตรักชาติอย่างอารยะ มีอุดมการณ์สร้างชาติ และยึดถือปรัชญาสังคมอารยะ ที่เน้นการสร้างความมีเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพที่อารยะ และยินดีอุทิศ เวลา ความสามารถ เงิน ในการร่วมพัฒนาเมืองให้น่าอยู่และมีความเจริญ
.
ผมหวังว่าการเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่ใกล้เข้ามานี้ คนกรุงเทพฯ จะได้ผู้นำที่เป็นคนดี เก่ง กล้า มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาทั้งคุณภาพชีวิตคนและเมือง ให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองน่าอยู่และเป็นพิมพ์เขียวให้กับทุกจังหวัดในประเทศไทยที่จะนำไปประยุกต์ให้เกิดการสร้างคุณภาพชีวิตเมืองเพื่อการสร้างชาติต่อไปครับ
.
ที่มา : www.cioworldbusiness.com
วันที่ 13 พฤษภาคม 2565

Leave a Reply

Your email address will not be published.